|
|
RSU 101 ธรรมาธิปไตย วิชาที่ว่าด้วยคุณธรรม จริยธรรม
“สังคมธรรมาธิปไตยของมหาวิทยาลัยรังสิต นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ “สร้างคน” มาเป็น “สร้างคนต้นแบบ”
|
|

“สังคมธรรมาธิปไตยของมหาวิทยาลัยรังสิต นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ “สร้างคน” มาเป็น “สร้างคนต้นแบบ” ที่ต้องมีทั้งความสำเร็จและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยแนวทางใหม่ที่มหาวิทยาลัยรังสิตแสวงหานั้น ต้องทำให้สังคมกลายเป็นสังคมที่สงบสุข มีการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย มีความเป็นธรรมะ มีการกินดีอยู่ดี ประกอบอาชีพด้วยความมั่นคง เจริญรุ่งเรือง ต้องทำให้สังคมมีความเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจนหรือร่ำรวย ต้องสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งจะเรียกสังคมแบบนี้ว่า สังคมธรรมาธิปไตย”
จากคำกล่าวข้างต้นคือ ปณิธานของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อปี พ.ศ. 2551 ที่นอกเหนือจากการพัฒนาบัณฑิตให้มีความพร้อมด้านวิชาการแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยรังสิตตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องธรรมาธิปไตย จึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปลูกฝังและก่อตั้งสถาบันหลักทางด้านจริยธรรมในสังคมให้เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่แนวความคิดและค่านิยมที่ส่งเสริมต่อการพัฒนาประเทศ
RSU101 ธรรมาธิปไตย วิชาที่ว่าด้วยคุณธรรม จริยธรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นเรฎฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “ธรรมาธิปไตย” ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยรังสิต เราทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันสร้างให้เกิดขึ้นมา ทั้งนี้ ฝ่ายวิชาการได้พัฒนาวิชาเรียนขึ้นมาเรียกว่า “วิชาRSU 101 ธรรมาธิปไตย” ซึ่งจะเป็นวิชาบังคับของนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 1/2556 เป็นต้นไป โดยวิชาดังกล่าวจะมีการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ ลงภาคสนาม และทำโครงงาน เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจบริบทของสังคมและการเป็นพลเมืองมากยิ่งขึ้น
“ประเทศของเรามีปัญหาเรื่องระเบียบวินัย คุณธรรม จริยธรรม และการคอรัปชั่นกันมาก ซึ่งรวมแล้วก็คือ สังคมขาดธรรมาธิปไตยนั่นเอง อนาคตอยากเห็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตทุกคนที่จบออกไปเป็นตัวอย่างของพลเมืองที่ดี รวมกันเป็นสังคมอุดมคติตามที่มหาวิทยาลัยรังสิตต้องการ ไม่มากก็น้อยนักศึกษาเหล่านั้นจะได้รับการถ่ายทอดเรื่องธรรมาธิปไตย ซึ่งไม่เฉพาะแค่วิชาเรียนเพียงอย่างเดียว แต่มหาวิทยาลัยจะสอดแทรกเรื่องธรรมาธิปไตยไว้กับทุกๆ กิจกรรม เพื่อให้นักศึกษาค่อยๆ ซึมซับเรื่องดังกล่าวด้วยตนเอง ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญอย่างมากในชีวิตประจำวันของทุกคน จึงคิดว่าสื่ออิเล็กทรอนิกส์น่าจะมีส่วนช่วยด้านการเรียนการสอนในวิชานี้ได้เป็นอย่างดี” รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวเสริม
นวัตกรรมการศึกษาของ ม.รังสิต
ดร.พงศ์ภัทร อนุมัติราชกิจ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการเรียนการสอนวิชา RSU 101 ว่า แนวคิดของวิชานี้โดยหลักๆ คือ การสร้างให้นักศึกษาเป็นพลเมืองที่ดีตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน ประเทศ กระทั่งการเป็นพลเมืองโลก มีจิตสำนึกของความเป็นธรรมาธิปไตย โดยเน้นการสร้างทักษะชีวิตให้แก่นักศึกษามากกว่าการเรียนในห้องเรียน โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาลงพื้นที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยและชุมชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นชุมชนที่มีปัญหาเท่านั้น แต่อาจจะเป็นชุมชนตนแบบที่ดีก็ได้ตามแต่เรื่องที่นักศึกษาสนใจ เพื่อนำมาถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ และอาจารย์ในห้องเรียน กล่าวคือ ชุมชนจะเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยใช้แนวคิดที่สำคัญในการเรียนรู้คือ ชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (Professional Learning Community, PLC) ครูเพื่อศิษย์ต้องเปลี่ยนบทบาทของตนเองจากครูผู้สอน ไปเป็นครูฝึก หรือ ผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ดังนี้แล้วนักศึกษาจะเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ มีทักษะของการสื่อสารและมีทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยพยายามกระตุ้นให้นักศึกษาใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไม่เฉพาะในชั่วโมงเรียนเท่านั้น นักศึกษายังสามารถใช้เทคโนโลยีสื่อสารกับอาจารย์ผู้สอนได้ตลอดเวลา เมื่อนักศึกษาไว้ใจก็จะเปิดใจคุยกับอาจารย์ได้ทุกเรื่อง จะส่งผลให้ระบบอาจารย์ที่ปรึกษาแข็งแรงขึ้น
“มีนักวิชาการเคยพูดว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยนักศึกษาชั้นปีที่ 1-2 ถือว่าเป็นการเตรียมตัวเปลี่ยนจากนักเรียนมาเป็นนักศึกษา เพราะพวกเขาเหล่านั้นเคยมีครูเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ส่วนปี 3-4 เป็นการเตรียมตัวนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตมีความพร้อมในการเป็นพลเมือง ดังนั้น หากนักศึกษาได้เรียนวิชานี้จึงถือเป็นการเตรียมตัวในการเรียนวิชาต่อๆ ไป เพราะเขาต้องทำงานกันเพื่อน ทำงานเป็นทีม ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต้องสื่อสารเป็น ใช้เทคโนโลยีได้ ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง และต้องสำนึกในสังคมด้วย วิชานี้นอกจากจะเป็นวิชาที่ปรับตัวให้แก่นักศึกษาแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความพร้อมและตระหนักถึงบทบาท ภาระหน้าที่ในการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมแก่นักศึกษาต่อไป” ดร.พงศ์ภัทร กล่าวเพิ่มเติม
ห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุด นศ. 3,500 คน
ดร.กัลยรัตน์ หล่อมณีนพรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานวางแผนและพัฒนากิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการเรียนการสอนว่า เนื่องจากวิชานี้เน้นการทำกิจกรรมหรือการลงมือปฏิบัติเป็นหลัก บทบาทของอาจารย์จึงไม่ใช่ผู้บรรยาย แต่เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ เป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวก และเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษา โดยการจัดให้นักศึกษาได้เรียนรู้จะแบ่งออกเป็นสองลักษณะคือ การเรียนรู้โดยใช้กระบวนการกลุ่มย่อย ด้วยการแบ่งนักศึกษาทั้งหมดออกเป็นห้องย่อย ห้องละ 100 คน มีอาจารย์ประจำห้อง 2 คน เวลาทำกิจกรรมก็จะแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มย่อยๆ 10 -15 คน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างทั่วถึง กับการเรียนรู้จากการฟังบรรยายกลุ่มใหญ่ ซึ่งในเทอมนี้จัดให้มี 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1. เรื่อง การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย โดย รศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ครั้งที่ 2 เรื่อง “ธรรมาธิบาลในสังคมไทย” โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต และครั้งที่ 3 เรื่อง “ความพอเพียงกับวิถีชีวิตนักศึกษา” โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งการบรรยายกลุ่มใหญ่นี้จะมีนักศึกษาประมาณ 3,500 คน เรียนพร้อมกันที่อาคารนันทนาการ นับเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ที่สุดของมหาวิทยาลัยรังสิตเท่าที่เคยมีมา ด้วยจำนวนผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นการบรรยายกลุ่มใหญ่หรือห้องเรียนย่อย วิชา RSU 101 จึงได้นำ IT เข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยทางมหาวิทยาลัยได้แจก Tablet ให้แก่นักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาใช้เช็คชื่อเข้าห้องเรียนผ่านแอพพลิเคชั่น “มาครับ” ดูเอกสารหรือหนังสืออ่านประกอบต่างๆ ของรายวิชา รับ-ส่งงานที่ได้รับมอบหมาย สร้าง Portfolio สื่อสารกับอาจารย์ ฯลฯ
“อาจารย์หลายท่านเห็นความสำคัญของวิชา RSU 101 ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยตอบโจทย์มหาวิทยาลัยที่จะสร้างสรรค์สังคมให้เป็นสังคมธรรมาธิปไตย ซึ่งเดิมเราอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าคืออะไร แต่พออาจารย์และนักศึกษาได้ศึกษาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ภาพสังคมธรรมาธิปไตยจะชัดเจนขึ้น เราคาดว่านักศึกษาที่เรียนจบวิชานี้อย่างน้อยจะมีทักษะทางปัญญาและมีจิตสาธารณะ ไม่นิ่งดูดายกับปัญหาของส่วนรวม” ดร.กัลยรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม
|
|