ข่าว ม.รังสิต ผ่านสื่อ

  50 เรื่องดีใน 4 ปีรังสิต | RSU Best Story


โครงการ "50 เรื่องดีใน 4 ปีรังสิต" เป็นโครงการเพื่อการเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิตแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และมุมมองต่อโลกและชีวิตที่มุ่งมั่นสู่การค้นหา ความดี ความจริง และความงาม

สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยที่จะสร้างและพัฒนาคนที่ถึงพร้อมทั้งความรู้และคุณธรรม โดยตั้งคำถามง่ายว่า ในช่วงชีวิตนักศึกษา มีสิ่งใดที่ควรด้วยการสร้างประสบการณ์ การอ่าน การดู การฟัง ผ่านงานศิลปะและวรรณกรรมต่างๆ จึงได้แบ่งหมวดหมู่ไว้ดังนี้ 1. ภาพยนตร์ที่ควรชม 2. เพลง-ดนตรีที่ควรฟัง 3. หนังสือที่แนะนำ 4. บทความที่ควรอ่าน และ 5. สถานที่ที่ควรไปเยี่ยมชม

มหาวิทยาลัยเพียงแต่กำหนดประเภทและเนื้อหาของสิ่งที่แนะนำเป็นมาตรฐานขั้นต้นเท่านั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการศึกษา เสวนาด้วยรูปแบบและวิธีการอันเหมาะสมหลากหลาย

หมายเหตุ - ภาพยนตร์ทุกเรื่อง และหนังสือแนะนำทุกเล่ม มีให้ยืมที่สำนักหอสมุด



ภาพยนตร์ควรดู

 

1. Chariots of Fire (ฮิวก์ ฮัดสัน, 1981)

เรื่องราวเกี่ยวกับสองนักวิ่งอังกฤษที่ลงแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปี 1924 ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยศรัทธา ความเชื่อมั่นและทำให้คนดูได้สัมผัสกับแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่

2. Dead Poets Society (ปีเตอร์ เวียร์, 1989)

ภาพยนตร์ไม่เพียงทำให้ค้นพบความยิ่งใหญ่ของบทกวี หากแต่ยังนำเสนอให้เห็นความสำคัญของเสรีภาพทางปัญญาและการค้นพบจิตวิญญาณ และตัวตนของคนหนุ่มสาว

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่

3. A Few Good Men (ร็อบ ไรเนอร์,1992)

แม้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในกองทัพสหรัฐฯ แต่โดยสาระสำคัญที่นำเสนอนั้นสามารถสะท้อนแนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในทุกชาติทุกสังคม

สำหรับผู้ชื่นชมดาราและบทบาทการแสดงชั้นดี นี่คือการปะทะที่เข้มข้นของ ทอม ครูซ แจ็ค นิโคลสัน และเดมี่ มัวร์

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่

4. Gandhi (ริชาร์ด แอ็ทเทนเบอเรอก์, 1982)

แบบอย่างของภาพยนตร์ที่ “ยิ่งใหญ่” ยิ่งใหญ่ทั้งบุคคลในเรื่อง (คานธี) ฉากเหตุการณ์ความยาว (188นาที) จำนวนตัวละครและสาระ (การต่อสู้ด้วยสันติวิธี)

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่

5. Grave of Fireflies (ทาคาฮาตะ อิซาโอะ,1988)

การสะท้อน ความโหดร้ายของสงครามผ่านทางเรื่องราว ความทุกข์ยากของสองพี่น้องภาพยนตร์เรื่องนี้มีผลกระทบทั้งต่อความคิด อารมณ์และความรู้สึก และเป็นที่สุดของการสร้างอารมณ์สะเทือนใจ

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่

6. Local Hero (บิลล์ ฟอร์ไซธ์, 1983)

แบบฉบับของการนำเสนอประเด็นการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยอารมณ์ขันอันเฉียบแหลม ภาพยนตร์ยังมีสาระที่สอดคล้องกับแนวคิดการมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่

7. One Flew Over the Cuckoo’s Nest (มิลอส ฟอร์แมน, 1975)

การนำเสนอให้เห็นถึงความสามารถของมนุษย์ที่จะทำให้เกิดการค้นพบคุณค่าของตนเองและความยิ่งใหญ่ของเสรีภาพ

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่

8. The Truman Show (ปีเตอร์ เวียร์, 1998)

งานชิ้นเอกสำหรับสังคมยุค “เรียลิตี้โชว์” ซึ่งสะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์ในแง่สังคมบทบาทของสื่อมวลชน และการได้รับความพึงพอใจของคนดู

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่

9. Distant Voice, Still Lives (เทอร์เร็นซ์ เดวิส, 1988)

ภาพยนตร์ที่เป็นเสมือนสมุดบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวและครอบครัวของเทอร์เร็นซ์ เดวิส ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวลิเวอร์พูล สิ่งที่ทำให้งานของเดวิส เรื่องนี้แตกต่างจากภาพยนตร์เกี่ยวกับครอบครัวเรื่องอื่นก็คือวิธีการเล่าเรื่อง(เพื่อถ่ายทอดความทรงจำ) ผ่านการตัดต่อที่นักวิจารณ์บางคนบรรยายว่า “ดุเดือดและเหี้ยมเกรียม” รวมถึงการใช้เทคนิคทางภาพยนตร์ที่หลากหลาย เมื่อกล่าวอย่างถึงที่สุด ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความสามารถที่จะทำให้คนดูเกิดอาการจับต้นชนปลายไม่ถูกได้ไม่ยาก และการทำความเข้าใจสิ่งที่เดวิสต้องการนำเสนอในภาพยนตร์ ถือเป็นภาระที่ท้าทายความคิด สติปัญญา รวมทั้งจินตนาการของผู้ดูอย่างมาก

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่

10. ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น (ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล,2520)

ปัญหาของคนชั้นล่างคือการถูกเอาเปรียบ และแม้เวลาผ่านมากว่า 2 ทศวรรษ แต่ชีวิตของทองพูน โคกโพยังคงสะท้อนให้เห็นว่าปัญหานี้ยังคงมีอยู่และไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป
ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่

11. The Bear (ฌอง-ฌาคส์ อังโนด์, 1989)

นอกเหนือจากการมอบความบันเทิงสำหรับคนดูทุกวัยแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์โดยไม่เบียดเบียนกัน รวมทั้งส่งเสริมให้มีความเมตตาต่อสัตว์

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่

12. Dances with Wolves (เควิน คอสท์เนอร์, 1990)

สิ่งสำคัญที่บรรจุอยู่ในภาพยนตร์ยาวกว่า 3 ชั่วโมง (185 นาที) เรื่องนี้ก็คืองานฝีมือชั้นเยี่ยม ความบันเทิงสำหรับคนดูกลุ่มใหญ่ และเนื้อหาเชิดชูคุณค่าของมนุษย์และธรรมชาติ

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่

13. The Killing Fields (โรแลนด์ จอฟเฟ, 1984)

สงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชายุคเขมรแดงถูกนำเสนอด้วยสไตล์เหมือนจริง น่าจะทำให้คนดูทุกคนเกิดความรู้สึกเกลียดชัง สงครามอย่างที่สุด

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่

14. 15 ค่ำเดือน 11 (จิระ มะลิกุล, 2545)

ประเด็นความเชื่อและศรัทธาในเรื่องนี้มิได้จำกัดเฉพาะแค่ “บั้งไฟพญานาค” เท่านั้น แต่ยังน่าจะทำให้เห็นประเด็นครอบคลุมปรากฏการณ์อื่น ๆ ในสังคมไทยอีกด้วย

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่

แนวคิดในการคัดเลือก
คุณค่าความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค การอนุรักษ์ธรรมชาติ และสงครามยังคงเป็นประเด็นสำคัญในทุกยุคทุกสมัย ซึ่งนักศึกษาและปัญญาชนควรจะตระหนักและได้รับรู้ผ่านทางงานศิลปะ การเลือกภาพยนตร์ที่ควรดูจึงมาจากแนวคิดดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศอย่าง Citizen Kane หรือ The Godfather Part II, ซึ่งแม้เพียบพร้อมด้วยคุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์ แต่อาจจะไม่มีประเด็นที่ได้กล่าวไป


เพลง ดนตรีที่ควรฟัง

 

1. The Only Classical CD You’ ll ever Nee

อัลบั้มชุดนี้เป็นงานที่รวมเพลงคลาสสิคที่เป็นที่รู้จักกันดี หาฟังง่าย เช่น The Swan Lake, Blue Danube, William Tell และมีงานหลายชิ้นที่มีอิทธิพลต่อดนตรีในปัจจุบัน ทั้งดนตรีพ้อพ แจ๊ซ ดนตรีประกอบภาพยนตร์ และกระทั่งดนตรีคลาสสิคสมัยใหม่เอง

ฟังเพลงได้ที่นี่

1. The Only Classical CD You’ ll ever Nee

อัลบั้มชุดนี้เป็นงานที่รวมเพลงคลาสสิคที่เป็นที่รู้จักกันดี หาฟังง่าย เช่น The Swan Lake, Blue Danube, William Tell และมีงานหลายชิ้นที่มีอิทธิพลต่อดนตรีในปัจจุบัน ทั้งดนตรีพ้อพ แจ๊ซ ดนตรีประกอบภาพยนตร์ และกระทั่งดนตรีคลาสสิคสมัยใหม่เอง

ฟังเพลงได้ที่นี่

2. Discover Classical Music of the 20th Century

อัลบั้มชุดนี้เป็นการรวมงานดนตรีที่ดีเด่นของศตวรรษที่ควรค่าแก่การศึกษา ทำความรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นผู้ชื่นชอบเพลงคลาสสิคหรือไม่ก็ตาม ดนตรีในงานชุดนี้ได้รวบรวมเอาภาษาดนตรีคลาสสิคของศตวรรษที่ 20 ที่มีทั้งความไพเราะอย่างดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง Schindler’s List ของ John Williams หรือดนตรีที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง เช่นงาน Piano Sonata หมายเลข 3 ของ Pierre Boulez เป็นต้น
ฟังเพลงได้ที่นี่

3. Kind of Blue (Miles Davis)

หนึ่งในอัลบั้มประวัติศาสตร์ของทั้งวงการแจ๊สและวงการดนตรีของโลก ความแตกต่างของอัลบั้มนี้กับงานดนตรีอื่นๆ ทั่วไปคือการสร้างงานดนตรี วันแรกที่มีการบันทึกผลงานประวัติศาสตร์ชุดนี้ ไม่มีนักดนตรีคนใดที่ทำการบันทึกเสียงได้เห็นหรือทราบรายละเอียดของเพลงทั้งหมดแต่อย่างใด ถือว่าเป็นตัวอย่างของการคิดสร้างสรรค์แนวทำนองในการโซโลที่ยอดเยี่ยม

ฟังเพลงได้ที่นี่

4. John Coltrane and Johnny Hartman (John Coltrane)

อัลบั้มนี้ถือว่าโรแมนติกที่สุดอัลบั้มหนึ่ง และไม่น่าเชื่อว่า เสียงแซ็กโซโฟนของ John Coltrane ที่ได้ฉายาว่า “Angry Sound” จะเข้ากันได้อย่างยอดเยี่ยมกับเสียงร้องของ Johnny Hartman ที่ได้ฉายาว่า “Satin Voice” เป็นหนึ่งในไม่กี่ผลงานของ John Coltrane ที่เล่นเพลงช้า (Ballads) ทั้งอัลบั้ม

ฟังเพลงได้ที่นี่

5. มโหรี ๒ (แม่ไม้เพลงไทย)

มโหรี ๒ บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกก่อน พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นต้นฉบับดนตรีบรรเลงมาตรฐาน สำหรับฟังเพื่อความบันเทิง ใช้ประกอบในงานพิธีต่างๆ และใช้ประกอบละคร-ภาพยนตร์ บทเพลง ส่วนใหญ่เป็นเพลงในอัตราจังหวะสองชั้น (จังหวะปานกลาง) เช่น เพลงลาวเจริญศรี ลาวดำเนินทราย บทเพลงเหล่านี้ เป็นเพลงไทยเดิมที่ฟังไม่ยากนัก และเป็นเพลงไทยเดิมแท้ มักนิยมนำมาประยุกต์ใช้บรรเลงกันทั่วไปในวงดนตรีร่วมสมัยและวงดนตรีไทยประยุกต์

6. Jakajan : Music from New Siam (วงฟองน้ำ)

“ฟองน้ำ”เป็นวงดนตรีไทยที่ผสมผสานดนตรีตะวันตก โดยเฉพาะเทคนิคการประพันธ์ดนตรีในแบบศตวรรษที่ 20 ในวงการดนตรีบ้านเรา ต้องนับว่าวงฟองน้ำเป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์งานดนตรีคลาสสิคร่วม สมัยของไทย งานของวงฟองน้ำชุดนี้เต็มไปด้วยอัตลักษณ์แบบไทยที่ผสานแนวคิดทางดนตรีสมัยใหม่มากมายลงไป และก็ไม่ได้ฟังยากจนเกินไปนัก

7. มนต์รักลูกทุ่ง (ไพรวัลย์ ลูกเพชร ฯ)

เพลงลูกทุ่งแบบฉบับ ประกอบภาพยนตร์ที่สะท้อนฉากชีวิตชนบท คือธรรมชาติของท้องทุ่ง ไร่นา สายน้ำ ด้วยลีลา ภาษา สำนวนโวหารและกลวิธีอันเป็นเอกลักษณ์ไทย ด้วยทำนองดนตรีและสำเนียงพื้นเมืองขนานแท้ บทเพลงชุดนี้ประพันธ์โดยครูเพลงลูกทุ่งหลากหลาย เช่น ไพบูลย์ บุตรขัน, สุรินทร์ ภาคสิริ, พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา, ประดิษฐ์ อุตตะมัง และขับร้องโดยนักร้องระดับคุณภาพ “มนต์รักลูกทุ่ง” จึงอยู่คู่กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 40 ปีแล้ว

ฟังเพลงได้ที่นี่

8. บทเพลงสุนทราภรณ์ (วงดนตรีสุนทราภรณ์)

เพลงของวงดนตรีสุนทราภรณ์ เปรียบเสมือน Sound Track ประกอบชีวิตคนไทยมานานกว่าครึ่งศตวรรษ เป็นงานสร้างสรรค์ชั้นเยี่ยมที่นำเพลงไทยเดิมมาสู่โลกสมัยใหม่และคนรุ่นใหม่ เป็นเพลงที่ถูกร้องซ้ำ ร้องใหม่มาทุกสมัย เป็นงานที่ต้องศึกษา เพื่อจะเรียนรู้ว่า เนื้อเสียง น้ำเสียง สำเนียง สำนวนแบบไทย เป็นและเคยเป็นอย่างไรใน 50 ปีที่ผ่านมา

ฟังเพลงได้ที่นี่

9. คนกับควาย (คาราวาน)

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แนวคิด “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ได้แพร่หลายในสังคมไทย นำไปสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะที่สะท้อนปัญหาสังคมอย่างกว้างขวาง คาราวานเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตวงแรกที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2517 อัลบั้ม “คนกับควาย” ซึ่งบันทึกเสียงในปี 2518 นับเป็นอัลบั้มเพลงชุดแรกทั้งของวงคาราวาน และวงการเพลงเพื่อชีวิตของไทย

ฟังเพลงได้ที่นี่

10. ตำนานเพลงโฟล์ค (จรัล มโนเพ็ชร)

จรัล มโนเพ็ชร คือผู้นำวัฒนธรรมล้านนาขึ้นมาเผยแพร่อย่างทรงพลัง ผลงานสไตล์โฟล์คซอง, บทเพลงแนวบัลลาด และดนตรีพื้นถิ่นเมืองเหนือ คือความลงตัวของศิลปะ นี่เป็นอัลบั้มที่รวมผลงานอันยอดเยี่ยมที่สุดไว้ด้วยกัน

ฟังเพลงได้ที่นี่

11. คอนเสิร์ตเปิดใจ 20 ปี กวีศรีชาวไร่ (พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ)

เป็นการแสดงสดที่ใช้งานดนตรีบรรยายสภาพสังคมไทยในช่วงเวลา 20 ปีผ่านสายตา การเดินทางและการแสวงหาของศิลปินคนหนึ่ง จุดเด่นทางศิลปะ คือการนำวัฒนธรรม เสียง สำเนียงท้องถิ่นล้านนาตะวันออก โดยเฉพาะดนตรีพื้นถิ่นของชาวลัวะ เช่น คันเปร๊ะ มาสร้างสรรค์ใหม่เป็นบทเพลงไพเราะ อาทิ “นกเขาไฟ” “ลิงทะโมน”

12. ขวัญเมือง 1 (อรวี สัจจานนท์)

เป็นอัลบั้มรวมผลงานเพลงลูกทุ่งที่สะท้อนชีวิตชนบทชาวอีสาน จากผลงานประพันธ์ของครูเพลง ซึ่งสำแดงให้เห็นถึงความงามของภาษา อารมณ์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตอีสานอย่างชัดเจน งานชุดนี้ถูกนำมาร้องใหม่โดยอรวี สัจจานนท์

13. เมด อิน ไทยแลนด์ (คาราบาว)

อัลบั้มที่ปลุกกระแสเพลงเพื่อชีวิต ให้ยืนผงาดบนตลาดเพลงอย่างองอาจ เป็นงานวิพากษ์วิจารณ์ค่านิยมของคนไทย ด้วยอารมณ์ขัน ประเทียดเสียดสี เช่น เห่อของนอก หลอกตัวเอง

ฟังเพลงได้ที่นี่

14. กระแซะเข้ามาซิ (พุ่งพวง ดวงจันทร์)

สังคมไทยเกิดความเปลี่ยนแปลง ชีวิตแบบชนบทกำลังล่มสลาย เมืองกับชนบทเชื่อมเข้าหากัน เพลงลูกทุ่งมิได้ขับขานอยู่ในไร่นา แต่เริ่มเข้ามาอยู่ในเมืองและแพร่หลายอยู่ในสถานบันเทิงคือคาแฟ่อันดาดดื่น นี่เป็นงานเพลงที่สะท้อนชีวิตเมืองจากสายตาของสาวชนบท ที่อยู่ตรงกลางของสายใยชีวิตสองฝั่ง

ฟังเพลงได้ที่นี่

15. 1985 (คาราวาน)

เป็นจุดเปลี่ยนผ่านครั้งแรกจากงาน Acoustic สู่ Electric ของวงดนตรีเพื่อชีวิตวงแรกในประวัติศาสตร์ไทย แต่เนื้อหายังคงความเป็นคาราวานไม่เปลี่ยนแปลง คือการสำรวจ ตีแผ่ปัญหาเชิงลึกของสังคม และนำเสนอเป็นบทเพลงที่งดงาม อัลบั้มชุดนี้มีเพลงเด่นๆ หลายเพลง อาทิ “ดอกไม้ให้คุณ” “ฮิโรชิมา”

ฟังเพลงได้ที่นี่

แนวคิดในการคัดเลือก
เนื่องจากผลงานเพลง ดนตรีมีอยู่จำนวนมาก การรวบรวมครั้งนี้ จึงมิได้นำเสนอดนตรีแนวกระแสหลักที่ มีความนิยมชมชอบอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว เช่นดนตรีแนวพ็อบ ร็อค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับเพลง ดนตรีจำนวนมากจะรวมอยู่ในหมวดหนังสือที่ควรอ่าน (บทกวีในเสียงเพลง ของสิเหร่)


หนังสือควรอ่าน

 

1. วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม (พุทธทาส ภิกขุ)

ปาฐกถาเต็มรูปครั้งแรกที่กรุงเทพฯของท่านพุทธทาสภิกขุ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2483 ซึ่งเตือนสติชาวพุทธทุกคนให้หันกลับมาทบทวนความเข้าใจในแก่นแท้แห่งพุทธศาสนา เป็นงานที่มุ่ง “เปิดโลกภายใน” เพื่อทลาย “ความยึดมั่นเกี่ยวกับตัวตน” ซึ่งเป็นเสมือนภูเขาแห่งอวิชชา เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ครูเทพ) พูดถึงงานชิ้นนี้ว่า “หนังสือเล่มนี้จะไม่ตาย”

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

2. เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน (กวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์)

คือหนึ่งในวรรณคดีที่ฉายภาพสังคมไทยได้อย่างลึกซึ้ง มีชีวิตชีวาที่สุด ซึ่งครอบคลุมวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย รวมทั้งขนบธรรมเนียม ประเพณี คติ ค่านิยมและคุณธรรมพื้นฐานที่ประกอบเป็นวิถีไทย วัฒนธรรมไทย นอกจากนี้ยังเปี่ยมด้วยวรรณศิลป์และสุนทรียภาพทางภาษาอันอุดม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวถึงวรรณคดีเรื่องนี้ว่า “ถ้าใครเกิดเป็นคนไทยแล้ว ยังไม่ได้อ่านหนังสือเรื่องขุนช้างขุนแผน ความเป็นไทยนั้นก็ยังไม่ครบ” 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

3. สาส์นสมเด็จ (กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

หนังสือรวมหัตถเลขาของเจ้านายไทยสองพระองค์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ และเป็นกำลังสำคัญทางสติปัญญาของบ้านเมืองมาตั้งแต่ยุคราชาธิปไตยจนถึงยุคสมัยใหม่ หนังสือเล่มนี้จึงอุดมด้วยความรู้เรื่องไทยศึกษา ทั้งประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนา วรรณคดีและอักษรศาสตร์

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

4. เจ้านายเล็กๆ -ยุวกษัตริย์ (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์)

หนังสือพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์ไทย 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล(รัชกาลที่ 8) ตั้งแต่แรกประสูติ จนเสด็จสวรรคต และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ตั้งแต่แรกประสูติ จนเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยข้อมูลที่ทรงใช้มาจากการสัมภาษณ์ และเอกสาร รูปภาพส่วนพระองค์ที่หายากและทรงคุณค่า เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ แสดงให้เห็นถึงการดำเนินชีวิตอันเรียบง่าย สามัญ ก่อนจะก้าวสู่วิถีแห่งยุวกษัตริย์บทสัมภาษณ์

ฟังเพลงได้ที่นี่

5. เพียงความเคลื่อนไหว (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)

งานกวีนิพนธ์ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลอนรักยุค “สายลมแสงแดด” สู่งานที่เข้าหาธรรมชาติและพุทธธรรม กระทั่งเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคม 2516 กวีนิพนธ์ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้คลี่คลายไปสู่ปัญหาสังคม อย่างเข้มข้นและงดงามทั้งด้านเนื้อหาความคิดและรูปแบบทางศิลปะ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

6. ลูกอีสาน (คำพูน บุญทวี)

ชีวิตชนบทอีสาน คือตำนานว่าด้วยความยากจน ข้นแค้น นวนิยาย “ลูกอีสาน” เป็นเรื่องราวจากชีวิตจริงที่สะท้อนธรรมชาติ สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณี และชีวิตความเป็นอยู่ในด้านต่างๆ ของชาวอีสาน ด้วยภาษางดงามและตรงไปตรงมา 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

7. เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 (กุหลาบ สายประดิษฐ์)

ผู้เขียนเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่มีเกียรติประวัติสูงเด่นในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ซึ่งได้บันทึกเหตุการณ์การปฏิวัติ 2475 ในฐานะผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองโดยตรงอย่างยาวนาน งานเขียนชิ้นนี้นอกจากจะให้รายละเอียดของเหตุการณ์แล้ว ยังได้เปิดเผยมูลเหตุจูงใจของคณะผู้ก่อการในการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญนี้อีกด้วย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

8. เจ้าชายน้อย (อังตวน เดอ แซงเต็กซูเปรี)

วรรณกรรมเยาวชนระดับโลกซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1943 และมียอดขายถึงปัจจุบันมากกว่า 50 ล้านเล่ม เป็นนวนิยายขนาดสั้นที่สะท้อนมุมมองบริสุทธิ์ของเด็กต่อสรรพสิ่งรอบตัว แต่ทุกบทของหนังสือเล่มนี้ เสมือนคู่มือการมองชีวิต ที่ผู้อ่านสามารถตีความ และได้รับแง่มุมใหม่ๆ ได้อย่างหลากหลายตามความเปลี่ยนแปลงของวัย ประสบการณ์และพัฒนาการของชีวิต

สามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ที่นี่

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

9. ฉันจึงมาหาความหมาย (วิทยากร เชียงกูล)

หนังสือรวมเรื่องสั้น บทกวี บทละคร สมัยก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งสะท้อนจิตวิญญาณแห่งการแสวงหาของเยาวชน ที่ตั้งคำถามต่อโลกและสังคมในทุกมิติ ทั้งต่อความหมายของชีวิต จุดหมายของการศึกษา ระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หนังสือเล่มนี้จึงมีฐานะเสมือนคัมภีร์แห่งวิญญาณกบฏ ก่อนการลุกขึ้นสู้ของขบวนการนักศึกษาประชาชนในเดือนตุลาคม 2516

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

10. บทกวีในเสียงเพลง (สิเหร่)

มีคำกล่าวว่า “บทเพลง” คือศิลปะที่ผสมผสานระหว่าง “ดนตรี” กับ “บทกวี” สิเหร่เป็นนักฟังที่สัมผัสทุกถ้อยคำอย่างทะลุถึงความรู้สึก นึกคิด อันแทรกอยู่ในทุกกระแสเสียง และได้ถ่ายทอดความคิดจากบทเพลงเหล่านั้นออกมาอย่างได้ทั้งอรรถ และรส สมกับความเป็น “บทกวีในเสียงเพลง”

11. เมืองนิมิตร (ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์)

ผู้เขียนเป็นอดีตนายทหารและนักโทษในคดีกบฏบวรเดช พ.ศ.2476 และได้เขียนนิยายเรื่องนี้เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในชื่อเดิมว่า “ความฝันของนักอุดมคติ” โดยได้สอดแทรกความรู้และทัศนะทางเศรษฐกิจ การเมือง จิตวิทยา สังคมวิทยา ซึ่งมีแง่มุมที่ใหม่สำหรับสังคมไทย รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองยุคนั้นอย่างตรงไปตรงมา


ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

   
แนวคิดในการคัดเลือก
โดยภาพรวม หนังสือ 10 เล่ม แยกเป็นประเภทต่างๆ คือ “ปรัชญา”(ศาสนา/ชีวิต) 2 เล่ม (วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม, ฉันจึงมาหาความหมาย) “ประวัติศาสตร์” 2 เล่ม (เจ้าชายเล็กๆ –ยุวกษัตริย์, เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475) “วัฒนธรรม” 2 เล่ม (เสภาขุนช้างขุนแผน, สาส์นสมเด็จ)“นวนิยาย” 2 เล่ม (ลูกอีสาน, เจ้าชายน้อย) “บทกวี” 2 เล่ม (เพียงความเคลื่อนไหว, บทกวีในเสียงเพลง) หนังสือที่นำเสนอ ส่วนใหญ่มีความยาวไม่มากนัก ยกเว้นเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน และ สาส์นสมเด็จ ซึ่งนักศึกษาไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งหมด สามารถเลือกอ่านตอนใดหรือบทใดบทหนึ่งก็ได้ เพราะแต่ละบทตอนมีประเด็น เรื่องราวแยกกันเป็นการเฉพาะและมีความไพเราะเป็นเอกลักษณ์


บทความควรอ่าน

 

1. พุทธศาสนากับสังคมไทย (พุทธทาสภิกขุ)

ภาคผนวกจากบันทึกการสัมนาเรื่องพุทธศาสนากับสังคมไทยปัจจุบัน โดยท่านพุทธทาสภิกขุ ที่สยามสมาคม พ.ศ. 2513 ที่ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่จะทำให้เยาวชนเข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง แม้แต่เรื่องพื้นฐานเช่น ศีล 5 ซึ่งถูกอธิบายอย่างคลาดเคลื่อนมาโดยตลอด

ประวัติ ท่านพุทธทาสภิกขุ

2. พระเอกในวรรณคดีไทย (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)

ปาฐกถาชิ้นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปวรรณคดีกับสังคม การเชื่อมโยงความรู้ทางประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรม เข้ากับความเป็นไปของโลกปัจจุบัน ด้วย “สไตล์คึกฤทธิ์” คือรอบรู้ เฉียบแหลม แฝงแง่คิด และเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน

ประวัติ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

3. สารสนเทศ / ปัญหา sms (อัศศิริ ธรรมโชติ)

ข้อเขียนจากคอลัมน์ Short-Short Story ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ หนึ่งในงานคอลัมน์ที่มีฐานะเป็นทั้งงานหนังสือพิมพ์และงานวรรณกรรม คือลึกซึ้ง คมคายและประเทืองอารมณ์ ผู้เขียนนำเสนอให้เห็นช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมการใช้ชีวิตกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการแสวงประโยชน์อย่างแนบเนียนระหว่างผู้ควบคุม กับผู้บริโภคเทคโนโลยี

ประวัติ อัศศิริ ธรรมโชติ

4. จากครรภ์มารดา สู่เชิงตะกอน (ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์)

เป็นงานเขียนที่สะท้อนความปรารถนาต่อสังคมอุดมคติที่อยู่บนพื้นฐานของความรัก  การแบ่งปัน  ความเป็นธรรม และการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย นั่นคือความสงบ เรียบง่าย และเกื้อกูลสังคม

ประวัติ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

5. ทำไมต้องช่วยคนจน (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์)

ปาฐกถามูลนิธิโกมล คีมทอง ประจำปี 2540 ของผู้หญิงคนหนึ่งที่อุทิศชีวิตให้กับการต่อสู้  ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนจนที่เขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี อย่างยาวนาน จนกลายเป็นความเชื่อและอุดมคติอันแรงกล้าว่า การช่วยคนจนก็คือการช่วยสังคมส่วนรวม และผลต่อสังคมย่อมกระทบต่อวิถีชีวิตของทุกคนในที่สุด

ประวัติ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์

6. อัตชีวประวัติ  (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์)

บทที่ 1 จากหนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์ อัตชีวประวัติของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ โอรสของ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ กับนางคัทริน เดสนิตสกี หญิงชาวรัสเซีย  ซึ่งสะท้อนชีวิตเล็กๆ ในราชวงศ์สมัยรัชกาลที่ 5 ที่พลิกผัน เปลี่ยนแปลง ไปตามวิถี ขนบ ธรรมเนียมแห่งราชสำนักและความผันผวนของสังคม

ประวัติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

7. ศตวรรษที่ 20 กับโลกยุคโลกาภิวัตน์ (ธีรยุทธ บุญมี)

บทหนึ่งจากหนังสือ “โลก Modern @ Post Modern” ซึ่งเป็นงานสำรวจ, ประเมินความเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 20 อย่างละเอียดลึกซึ้ง และความเข้าใจต่อศตวรรษที่ 20 อันเพิ่งผ่านพ้นไป เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยในการคาดคะเนต่อความเปลี่ยนแปลงความผันแปรและความเสี่ยงของศตวรรษที่ 21

ประวัติ ธีรยุทธ บุญมี

8. การปฏิรูปศิลปสากลในไทย ( น. ณ ปากน้ำ)

บทหนึ่งจากหนังสือ “ความงามของศิลปไทย” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของศิลปสมัยใหม่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจินตนาการและความมุ่งมั่นของศิลปินไทยแต่โบราณที่ศึกษา ประสมประสาน เทคนิคและแนวคิดของศิลปตะวันตกให้เข้ากับศิลปไทยอย่างงดงาม กลมกลืน

9. สถาบันพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์)

คำอภิปรายทางวิชาการที่แสดงวิวัฒนาการทางการเมือง และบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีพัฒนาการท่ามกลางกระแสผันผวนแห่งความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมไทย

ประวัติ สุลักษณ์ ศิวรักษ์

10. กระแสธารที่มีน้ำเต็ม  (เสฐียรโกเศศ)

มุมมองในประเด็นวัฒนธรรม  ซึ่งเป็นสิ่งที่มีวิวัฒนาการ  มีบูรณาการ มีถูก มีผิด  มีเลว มีดี และย่อมเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงไปตามยุคสมัย

ประวัติ เสฐียรโกเศศ

11. ชนชาติ ภาษา และรัฐ  (จิตร ภูมิศักดิ์)

บทความหนึ่งในหนังสือ ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม  ซึ่งนำเสนอมุมมองใหม่ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์สังคม ว่ามิได้เป็นเพียงเรื่องราวของชนชาติใดชนชาติหนึ่ง  หากเป็นวิวัฒนาการของการต่อสู้ สร้างสรรค์ของชนหลายชนชาติร่วมกัน  กระทั่งเกิดเป็นเอกภาพของสังคม

ประวัติ จิตร ภูมิศักดิ์

12. ผู้อื่นในตัวเรา  (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)

งานเขียนสั้นๆ ที่พาเราไปสำรวจตัวตน  พฤติกรรม และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่แทรกซ้อนอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันอันหลากหลาย  เพื่อการทบทวน และค้นพบอิสรภาพของปัจเจกกับเอกภาพขององค์รวม

ประวัติ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

13. วัฒนธรรมกับแฟชั่น (ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์)

งานเขียนที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน ด้วยวิธีการเล่าเรื่องเล็กๆ แต่ด้วยมุมมองกว้างไกลและตั้งประเด็นใหญ่ระดับโลก เป็นข้อสังเกตที่น่าใคร่ครวญว่า แค่เรื่องแฟชั่นที่ผ่านมาผ่านไป ดูเหมือนฉาบฉวย แท้จริงคือพันธนาการทางวัฒนธรรมอันใหญ่หลวง ใช่หรือไม่ ?

ประวัติ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์

   


สถานที่ควรเยี่ยม

 

1. ตลาดสามชุก สุพรรณบุรี

กรณีศึกษาของกระบวนการชุมชนเข้มแข็งที่ร่วมกับองค์กรต่างๆ ในการปลุกชีวิตคืนตลาดเก่าให้กลับมารุ่งเรืองได้ในมิติใหม่ โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ ซึ่งดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน ให้ความรู้นอกเหนือจากการจับจ่ายซื้อของ  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

2. วัดพระธาตุลำปางหลวง ลำปาง

พุทธสถานล้านนาที่สำคัญยิ่งของ เขลางค์นคร  บนม่อนดอยธรรมชาติ ซึ่งยังคงเก็บรักษาบรรยากาศเมื่อ 500 ปีเศษได้อย่างสมบูรณ์แบบแห่งหนึ่งในภาคเหนือ  สถานที่แห่งนี้มีศิลปกรรมชิ้นสำคัญ อาทิ ซุ้มประตูโขง  กู่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง   วิหารน้ำแต้ม  วิหารพระพุทธและพระเจดีย์ที่หุ้มด้วยทอง จังโกทั่วทั้งองค์

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

3. ชุมชนกุฎีจีน กทม.

ชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตร่วมกันระหว่างผู้คนหลากเชื้อชาติและต่างศาสนา โดยมีศาลเจ้าเกียนอันเกง โบสถ์ซางตาครูส วัดกัลยาณ์ มัสยิดกุฎีขาว เป็นสัญลักษณ์แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

4. บ้านพิพิธภัณฑ์  กทม.

พิพิธภัณฑ์เอกชนขนาดเล็กของสมาคมกิจวัฒนธรรมและอาสาสมัคร  โดยมีหนึ่งในแกนนำคือคุณเอนก นาวิกมูล จัดแสดงของสะสมย้อนยุคร่วมสมัยกับปัจจุบัน ที่ให้แรงบันดาลใจแก่นักสะสมมือใหม่ว่า เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

5. ห้างทองตั้งโต๊ะกัง เยาวราช

ร้านทองที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ ประกอบธุรกิจมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตัวอาคารปัจจุบันตั้งอยู่ในย่านสำเพ็ง  ออกแบบโดยช่างชาวดัทช์ในสมัยรัชกาลที่ 6  ภายในตกแต่งด้วยเครื่องเรือนเก่า และจัดพื้นที่บางส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติความเป็นมา และให้ความรู้เกี่ยวกับการค้าทอง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

6. มิวเซียมสยาม กทม.

พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้แห่งแรกที่ปรับใช้อาคารเดิมของกระทรวงพาณิชย์ ท่าเตียน  มาเป็นมิวเซียมที่บอกเล่าความเป็นมาของสยามประเทศได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินและทันสมัย เหมาะแก่คนทุกเพศวัย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

7. ตลาดระแหง ปทุมธานี

ตลาดเก่าริมคลองระแหง ในเขตอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ที่ยังมีร่องรอยของชุมชนค้าขายที่ใช้เส้นทางน้ำเป็นหลัก ร้านอาหารไทยจีนของที่นี่ชื่อ “แปโภชนา” ปรุงอาหารได้อร่อยขึ้นชื่อและดึงดูดให้ผู้คนมาที่ตลาดนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ตลาดแห่งนี้เคยได้รับการคัดเลือกให้เป็นชุมชนตัวอย่างของจังหวัดปทุมธานี ในโครงการ To Be Number One และได้รับรางวัลชุมชนอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

8. วัดราชบพิธ กทม.

วัดธรรมยุติกนิกายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สร้างโดยรัชกาลที่ 5 มีความงดงามทั้งในรูปแบบแผนผัง และการประดับตกแต่งเต็มพื้นที่ของผนังอาคารและองค์พระเจดีย์ ด้วยกระเบื้องเคลือบเขียนสีเบญจรงค์ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปสมัยรัตนโกสินทร์

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

9. สยามสมาคม กทม.

สมาคมเพื่อการศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้สำหรับปัญญาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีห้องสมุดให้ค้นคว้า และพื้นที่สำหรับกิจกรรมเสวนา ตลอดจนพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาไทยผ่านเรือนเก่า อาทิ “เรือนคำเที่ยง” และ “เรือนแสงอรุณ”

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

10. อุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย

มรดกโลกที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งสมบูรณ์แบบทั้งร่องรอยแห่งโบราณสถานสมัยสุโขทัย อันเป็นยุคทองยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย และการจัดภูมิทัศน์ การจัดการเพื่อให้ความรู้โดยกรมศิลปากร

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

11. พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เพชรบุรี

พระราชวังไม้สักทอง ริมทะเลชะอำ ของรัชกาลที่ 6 ซึ่งสถาปนิกชาวอิตาเลียนได้ออกแบบก่อสร้างได้อย่างสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสนองประโยชน์ใช้สอยได้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหน้า ฝ่ายใน หรือแม้กระทั่งโรงละคร

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

12. ธนาคารแห่งประเทศไทย

องค์กรระดับชาติที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ตั้งอันเคยเป็นวังเก่า ได้แก่วังบางขุนพรหม และวังเทวะเวสม์ ด้วยการวางแผนจัดการมรดกสถาปัตยกรรมที่คงเหลืออยู่ ให้กลับมาตอบสนองการใช้สอยของปัจจุบันได้อย่างสง่างาม ร่วมกับอาคารใหม่ที่พิถีพิถันในการออกแบบให้สอดคล้องกลมกลืนกับพื้นที่ประวัติศาสตร์

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

13. ปราสาทหินพิมาย นครราชสีมา

พุทธสถานมหายานในรูปแบบของปราสาทหินทรายสีขาว กลางเมืองพิมาย ที่มีขนาดใหญ่และงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งในอุษาคเนย์ ได้รับการบูรณะฟื้นฟูและดูแลอย่างต่อเนื่องมาตลอดโดยกรมศิลปากร

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

   


ปัจจุบันเปิดสอนในระดับปริญญาตรี 89 หลักสูตร ระดับปริญญาโท 39 หลักสูตร และระดับปริญญาเอก 15 หลักสูตร รวม 143 หลักสูตร
วิทยาศาสตร์ - สุขภาพ
___
วิทยาลัยแพทยศาสตร์
วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก
วิทยาลัยเภสัชศาสตร์
วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์
พยาบาลศาสตร์
วิทยาศาสตร์
กายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา
เทคนิคการแพทย์
ทัศนมาตรศาสตร์
รังสีเทคนิค
วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์
วิศวกรรมศาสตร์ - เทคโนโลยี
___
สถาบันการบิน
วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์
วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี
วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตร และเทคโนโลยีอาหาร
นวัตกรรมเกษตร
เทคโนโลยีอาหาร
มนุษยศาสตร์ - สังคมศาสตร์
___
วิทยาลัยนิเทศศาสตร์
สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์และนโยบายสาธารณะ
วิทยาลัยศิลปศาสตร์
นิติศาสตร์
วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม
วิทยาลัยครูสุริยเทพ
สถาบันภาษาอังกฤษ
สถาบัน Gen.Ed.
อาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม
รัฐศาสตร์
การทูตและการต่างประเทศ
เศรษฐกิจ - ธุรกิจ
___
บริหารธุรกิจ
วิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการ
วิทยาลัยการกีฬา
บัญชี
เศรษฐศาสตร์
ศิลปะ - การออกแบบ
___
ดิจิทัลอาร์ต
วิทยาลัยการออกแบบ
สถาปัตยกรรมศาสตร์
วิทยาลัยดนตรี
หลักสูตรออนไลน์ / นานาชาติ / ป.โท-เอก
___
บัณฑิตวิทยาลัย
วิทยาลัยนานาชาติ
International Chinese College (中国国际学院)
Rangsit Cyber University
วิชาการ / วิจัย /
ประกันคุณภาพ

Journal of International
- Journal of Current Science and Technology (JCST)
- Rangsit Journal of Social Science and Humanities (RJSH)
- Interprofessional Journal of Health Sciences (IJHS)
- Rangsit Journal of Educational Studies

Journal of National
- วารสารพัฒนาการเรียนการสอน (Teaching and LearningJournal of Rangsit University : Teaching and Learning)
- วารสารนิเทศศาสตร์ปริทัศน์ (Journal of Communication Arts Review)
ว- ารสารเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจปริทัศน์ (Business Administration and Economics Review)
- วารสารศิลปศาสตร์ (Journal of Liberal Arts, Rangsit University)
- วารสารรังสิตสารสนเทศ (RSU library journal)
- รังสิตบัณฑิตศึกษาในกลุ่มธุรกิจและสังคมศาสตร์ (Journal of Rangsit Graduate Studies)
- วารสารดนตรีรังสิต (Rangsit Music Journal)
- วารสารวิศวกรรมและเทคโนโลยี (Rangsit University Journal of Engineering and Technology)
- วารสารนวัตกรรมสังคม (Journal of Social Innovation)

ระบบประเมินการเรียนการสอนออนไลน์
SHOWCASE
ปล่อยของ
iTunes U
RSU Gallery
BOOKSHELF
ศาลาดนตรีสุริยเทพ 30 ปี ม.รังสิต
อาทิตย์ อุไรรัตน์ ก้าวข้ามวิกฤติชาติ
บ้านเคยอยู่อู่เคยนอน
อาชีพอินเทรนด์เปลี่ยนโลก..คุณเองก็เป็นได้
ดาวน์โหลด / ฟอนต์ / ซีไอ
ดาวน์โหลดโลโก้
ดาวน์โหลดฟอนต์
ดาวน์โหลดซีไอ

NEWS & MEDIA
สารรังสิต
RSU Media
SOCIAL MEDIA