คณะเทคโนโลยีอาหาร
FACULTY OF FOOD TECHNOLOGY
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีอาหาร
หลักสูตรธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร สาขาธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร
cab.rsu.ac.th/food
เทคโนโลยีอาหาร หรือวิทยาศาสตร์การอาหาร คือ ศาสตร์ที่นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและกายภาพ (ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์) และวิศวกรรมศาสตร์ (เทคโนโลยีการผลิต) มาเป็นพื้นฐาน เพื่อศึกษาธรรมชาติของอาหาร เช่น โครงสร้างภายใน สารที่มีคุณค่า การเน่าเสีย และเพื่อใช้ประโยชน์โดยเฉพาะการถนอมและแปรรูปอาหารในระดับอุตสาหกรรม เทคโนโลยีอาหารไม่ใช่คหกรรมศาสตร์ นักเทคโนโลยีอาหารไม่ใช่พ่อครัวแต่เป็นนักวิทยาศาสตร์
ความสำคัญ
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม อุตสาหกรรมของประเทศจึงอาศัยผลิตผลเกษตรเป็นรากฐานสำคัญ อุตสาหกรรมสำคัญที่ใช้ผลิตผลเกษตรเป็นวัตถุดิบในสัดส่วนสูงมาก คือ อุตสาหกรรมอาหาร ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมอาหารจึงก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าผลิตผลเกษตรและเพิ่มศักยภาพการค้ากับต่างประเทศด้วยการส่งออกสินค้าอาหาร ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ทำรายได้ให้กับประเทศได้ปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตปีละกว่า 10% มีโรงงานผลิตอาหารมากกว่า 50,000 แห่ง โดยเป็นโรงงานขนาดใหญ่มากกว่า 10,000 แห่ง รวมทั้งประเทศไทยยังมีนโยบายของสำคัญ ในการเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารของโลก ตามแนวคิดครัวไทยสู่ครัวโลก (Kitchen to the World) ดังนั้นธุรกิจไม่ว่าใหญ่เล็กจึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เพิ่มคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ทันความต้องการผู้ซื้อ และมาตรฐานการค้าที่เข้มงวดขึ้นอยู่ตลอด องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอาหารจึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นปลายทางสำคัญของผลิตผลเกษตรของประเทศไทยให้ก้าวหน้าต่อไป ซึ่งจะย้อนกลับไปสู่ความเป็นอยู่ทีดีขึ้นของเกษตรกรไทยในที่สุด
หลักสูตรเทคโนโลยีอาหาร
ระบบการศึกษา ทวิภาค (2 ภาคการศึกษาต่อปี)
ระยะเวลาการศึกษา 4 ปี
จำนวนหน่วยกิตรวม 134 หน่วยกิต
ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร ประมาณ 393,750 บาท
สาระสำคัญในหลักสูตร
- องค์ประกอบเคมีและปฏิกิริยาเคมีในอาหาร
- จุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสียและจุลินทรีย์ก่อโรคในอาหาร
- อาหารและโภชนาการ
- การตรวจวิเคราะห์อาหารทางด้านเคมี โภชนาการ และจุลินทรีย์
- การจัดการและการเตรียมวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร
- เทคโนโลยีการถนอมอาหาร การแปรรูปอาหาร และการบรรจุอาหาร ในระดับอุตสาหกรรม
- มาตรฐานและกฎหมายอาหาร การประกันคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร
- สามารถเลือกเรียน กลุ่มวิชาชีพเลือก (15 หน่วยกิต) ได้ 2 กลุ่ม คือ
- กระบวนการแปรรูปอาหาร (food processing)
สร้างนักเทคโนโลยีอาหารที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ในการสร้าง ดำเนินการ และบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ นวัตกรรมเทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร การออกแบบกระบวนการผลิตและโรงงานผลิตอาหาร การจัดการโรงงานผลิตอาหาร การจัดการซัพพลาย เชน และโลจิสติกส์สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารเฉพาะด้าน เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ฯลฯ
- พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (food product development)
สร้างความเป็นนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพที่เป็นเทรนด์ของปัจจุบันและอนาคต โดยมีทักษะที่สำคัญ ได้แก่ หลักการและขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร การประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัสของอาหาร การประเมินอายุการเก็บรักษาของอาหาร การออกแบบและเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์อาหาร และเทคโนโลยีอาหารเพื่อสุขภาพ
จุดเด่น
- มีโรงงานต้นแบบ ที่ย่อส่วนจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารหลายๆ ประเภทมาไว้ในที่เดียวกัน โดยมีการออกแบบอย่างถูกหลักสุขลักษณะและใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยไม่ต่างจากโรงงานผลิตอาหารจริง รวมทั้งมีห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารเพื่อลงมือปฏิบัติในสภาพเหมือนจริง สร้างทักษะและความคุ้นเคย ช่วยลดภาระผู้ประกอบการในการฝึกบัณฑิตที่จบให้ทำงานได้ และยังใช้ประกอบอาชีพอิสระหรือเปิดกิจการของตัวเองได้
- ได้ฝึกงานหรือเข้าโครงการสหกิจศึกษาในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อเรียนรู้และฝึกประสบการณ์การทำงานจริงจากภาคเอกชน
- เปิดโอกาสให้ฝึกงานระยะสั้นในต่างประเทศ โดยความร่วมมือกับสถาบันต่างๆ เช่น Toyo College of Food Technology ประเทศญี่ปุ่น National Pingtung University of Science and Technology (NPUST) ประเทศไต้หวัน
- เปิดโอกาสให้ทำวิจัยร่วมกับอาจารย์ เพื่อฝึกทักษะปฏิบัติและการรู้จักคิดแก้ปัญหา
- เป็นหลักสูตรที่ผสมผสานความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพเข้ากับเทคโนโลยีอาหาร โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารหมัก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย
แนวทางการประกอบอาชีพ
- นักวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยีอาหารในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทุกแห่ง โดยทำหน้าที่ฝ่ายผลิต หรือฝ่ายควบคุม/ประกันคุณภาพ หรือฝ่ายวิจัยและพัฒนา
- เจ้าหน้าที่ในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร เช่น
- การแปรรูปสินค้าเกษตรเบื้องต้น
- การผลิต/ขายส่วนประกอบหรือส่วนผสมในอาหาร
- การผลิต/ขายบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร
- การตรวจวิเคราะห์อาหาร
- การตรวจรับรองระบบคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร
- การผลิต/ขายเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ใช้ผลิตอาหาร
- การจัดเก็บและขนส่งสินค้าเกษตรและอาหาร
- การนำเข้า/ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร
- การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร
- ข้าราชการในหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงาน สาธารณสุขจังหวัด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สถาบันอาหาร กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นต้น
- อาจารย์หรือนักวิจัยในมหาวิทยาลัย สถานศึกษา หรือหน่วยงานวิจัยต่างๆ
- นักโภชนาการหรือเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลหรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือการส่งเสริมและดูแลรักษาสุขภาพ
- ธุรกิจส่วนตัวที่เกี่ยวกับการแปรรูปอาหาร
การเข้าศึกษา
สำเร็จการศึกษาระดับ ม.6 หรือเทียบเท่า สายวิทย์-คณิต
เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.00 ใช้วิธีการรับตรง ไม่มีการสอบข้อเขียน
นักศึกษาจากสถาบันอื่นสามารถเทียบโอนวิชาและย้ายเข้ามาศึกษาต่อได้
www.rsu.ac.th/cab/food
หลักสูตรธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร สาขาธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร
แนวคิดหรือ ความเป็นมาของการเปิดหลักสูตร
จากความได้เปรียบของประเทศไทยในเรื่องวัตถุดิบทางการเกษตร ที่มีทั้งความหลากหลาย และจำนวนมาก จนนำไปสู่ศักยภาพในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงมีธุรกิจเกี่ยวกับด้านอาหารเกิดขึ้นมากมายรวมทั้งธุรกิจบริการด้านอาหาร ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ธุรกิจด้านอาหารทั้งด้านอุตสาหกรรมการผลิตและการให้บริการจึงเป็นธุรกิจที่มีอนาคตสำหรับประเทศไทย
ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อตอบสนองความได้เปรียบของประเทศดังกล่าว การผลิตบัณฑิตของหลักสูตรที่เปิดสอนในสถาบันอื่นๆนั้นส่วนใหญ่กลับเน้นเฉพาะการให้ความรู้ และ ทักษะในสาขาวิชาชีพ เพื่อผลิตบัณฑิตเข้าทำงานเป็นลูกจ้าง (Employee) แต่ไม่มีกระบวนการบ่มเพาะหรือปลูกฝังความคิดที่จะเป็นเจ้าของกิจการให้กับนักศึกษา
ดังนั้นแนวคิดหรือที่มาของการเปิดหลักสูตร เทคโนโลยีบัณฑิต สาขา ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างความแตกต่างจากหลักสูตรทั่วไปของสถาบันอื่น คือ มีเป้าหมายที่จะสร้างหรือ บ่มเพาะนักศึกษา ตลอด 4 ปี ให้มีความรู้ความสามารถที่จะเป็นนายจ้าง (Employer) หรือ เป็นเจ้าของกิจการ (Entrepreneur) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร หรือ ธุรกิจบริการร้านอาหาร ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐานของความรู้ความสามารถและทักษะปฏิบัติในวิชาชีพ
แนวคิดการศึกษารูปแบบใหม่ Learning by Doing : คือ การเรียนรู้จากการทำ
ตลอด 4 ปี นักศึกษาจะเรียนภาคทฤษฎี ในชั้นเรียน ผสมผสานกับ ภาคปฏิบัติจริงทั้งในห้องปฏิบัติการและ สถานปฏิบัติงานจริง รวมทั้งเข้าสู่ กระบวนการบ่มเพาะ เพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่
จำนวนหน่วยกิต |
122 หน่วยกิต |
|
|
ประกอบด้วย |
|
วิชาศึกษาทั่วไป |
30 หน่วยกิต |
วิชาเฉพาะ |
86 หน่วยกิต* |
วิชาเลือกเสรี |
6 หน่วยกิต |
*รายละเอียดกลุ่มวิชาเฉพาะ ประกอบด้วย |
กลุ่มวิชาพื้นฐานวิชาชีพ เพื่อ สร้างความแข็งแรงและปรับพื้นฐานให้กับนักศึกษา เพื่อจะได้สามารถไปเรียนในวิชาชีพด้านเทคโนโลยีอาหารได้ จำนวน 15 หน่วยกิต
กลุ่มวิชาด้านบริหารธุรกิจ (วิชาหลักที่เป็นหัวใจของการบริหารจัดการ เช่น การเป็นผู้ประกอบการ วิชาองค์การการจัดการ วิชาบัญชีเบื้องต้น และวิชาการตลาด เป็นต้น ) จำนวน 21 หน่วยกิต
กลุ่มวิชาด้านเทคโนโลยีอาหาร (วิชาหลักที่เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีอาหาร ) จำนวน 22 หน่วยกิต
กลุ่มวิชา ที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร และ การฝึกงาน เพื่อบ่มเพาะให้นักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ และ คุ้นเคยกับภาคธุรกิจอาหารที่นักศึกษาสนใจ 16 หน่วยกิต
กลุ่มวิชาเลือก 12 หน่วยกิต เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสเลือกเรียนตามความสนใจเฉพาะด้าน ได้แก่
กลุ่มเทคโนโลยีอาหาร ได้แก่ วิชาเทคโนโลยีผักและผลไม้แปรรูป วิชาธุรกิจร้านอาหารแฟรนชายส์ วิชาธุรกิจเบเกอรี วิชาธุรกิจกาแฟ ฯลฯ
กลุ่มด้านการครัว
กลุ่มด้านบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร
กระบวนการบ่มเพาะ “ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ”ตลอด 4 ปี
- ศึกษาดูงานโรงงานอาหารชั้นนำ ใน / หรือ ต่างประเทศ
- เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักธุรกิจอาหารที่ประสบความสำเร็จ ตลอด 4 ปี
- เรียนรู้ภาคทฤษฎี ปรัชญาการบริหารธุรกิจ และ พื้นฐานเทคโนโลยีอาหาร และ การปฏิบัติจริงในโรงงานต้นแบบของคณะเทคโนโลยีอาหาร
- ฝึกงานที่โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร หรือ ธุรกิจอาหารที่นักศึกษาสนใจไม่น้อยกว่า 600 ชั่วโมง
- สหกิจศึกษา (ฝึกปฏิบัติจริง เสมือนธุรกิจของตัวเอง) ที่โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร หรือ ธุรกิจบริการด้านอาหาร 1 ภาคการศึกษา
- บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ เกี่ยวกับนวัตกรรมอาหาร ที่นักศึกษาสนใจ และ เสนอผลงานจริง
- บ่มเพาะการเขียนแผนธุรกิจที่สอดคล้องกับนวัตกรรมอาหารที่นักศึกษาสร้างสรรค์ขึ้น
- หาแหล่งทุนสนับสนุน หรือ เจ้าของกิจการที่สนใจจะร่วมลงทุนในแผนธุรกิจของนักศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้ว
โครงการความร่วมมือการฝึกปฏิบัติงาน กับภาคเอกชน และ อุตสาหกรรมอาหารชั้นนำเพื่อสร้างบัณฑิตพร้อมเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการ
- บริษัทการบินไทย
- บริษัทเอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)
- บริษัท วีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด
- ธุรกิจกาแฟ Salotto ฯลฯ
นักศึกษาสามารถเลือกเข้าโปรแกรมการฝึกงานกับบริษัท ชั้นนำ ด้านธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่มและ ภัตตาคาร เพื่อเรียนรู้ ทักษะปฏิบัติจากมืออาชีพของแต่ละบริษัท หรือ อุตสาหกรรมอาหารที่ประสบความสำเร็จแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งเน้นการสร้างบัณฑิตพร้อมเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่สามารถประกอบธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหาร หรือ ธุรกิจบริการร้านอาหาร ที่พร้อมด้วยความคิดสร้างสรรค์ ทักษะปฏิบัติงาน ความรู้วิชาชีพ (ด้านธุรกิจ และ เทคโนโลยีอาหาร) และ มีระเบียบวินัยในการทำงาน
เป้าหมายของบัณฑิต เป็นผู้ประกอบการ / นักธุรกิจ / เถ้าแก่น้อย หรือ สามารถทำงานได้ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารชั้นนำ หรือ บริษัท/ ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารและบริการ
คุณสมบัติผู้สมัคร
- จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายศิลปศึกษา / หรือ สายวิทยาศาสตร์
- จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช) ทุกสาขา
ทุนการศึกษา
สำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนระดับมัธยมปลาย เฉลี่ย 3.25 เป็นต้นไป มีสิทธิสมัครขอรับทุนการศึกษา “สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สำหรับการพัฒนาชุมชนระดับท้องถิ่น” ยกเว้นค่าหน่วยกิต ตลอด 4 ปีการศึกษา สำหรับผู้ที่เป็นทายาท หรือ มีกิจการธุรกิจด้านอาหารในชุมชนท้องถิ่น จะได้รับการพิจารณาก่อน
cab.rsu.ac.th/food
|