คณะนวัตกรรมเกษตร
FACULTY OF AGRICULTURAL INNOVATION
หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขานวัตกรรมเกษตร
cab.rsu.ac.th/agri
นวัตกรรมเกษตร คือ การบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยต่างๆ เข้ากับเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพของผลิตผล โดยใช้ข้อมูลของต้นพืช สภาพแวดล้อมของฟาร์ม และฐานข้อมูลด้านการเกษตร ที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นเครือข่าย มาประมวลผลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยการตัดสินใจปรับปัจจัยการผลิตและการดูแลรักษาต้นพืชอย่างพอเหมาะ รวมถึงการจัดการผลิตผลเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อคงคุณภาพเอาไว้ให้นานที่สุด
ความสำคัญ
ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตผลิตผลเกษตรที่สำคัญของโลก แต่ด้วยเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมที่ให้ผลผลิตต่ำ ทำให้เกษตรกรของไทยยังคงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจน ขณะเดียวกันจำนวนประชากรที่สูงขึ้น ชุมชนเมืองที่ขยายตัว พื้นที่เพาะปลูกที่ลดลง สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากปัญหาโลกร้อน รวมทั้งความต้องการผลิตผลเกษตรเพื่อแปลงเป็นพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรรมแบบดั้งเดิมยิ่งไม่สามารถให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการได้ และความพยายามในการเพิ่มผลผลิตด้วยวิธีเดิมๆ กลับทำให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ จากการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น นอกจากนี้ผลิตผลเกษตรจำนวนมากยังคงสูญเสียไปตั้งแต่เก็บเกี่ยวตลอดเส้นทางไปสู่ผู้บริโภคหรือสู่กระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่ไม่ดีพอ นวัตกรรมเกษตรจึงเป็นศาสตร์ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย เกษตรกรรมแบบแม่นยำสูงหรือฟาร์มอัจฉริยะ เกษตรกรรมในเมือง และเกษตรกรรมแบบยั่งยืน รวมไปถึงการจัดการผลิตผลเกษตรแบบครบวงจร นวัตกรรมเกษตรจึงเป็นเกษตรกรรมยุคใหม่ที่จะมีบทบาทมากขึ้นและถือว่าเป็นเกษตรกรรมของอนาคตอย่างแท้จริง นวัตกรรมเกษตรจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ทีดีขึ้น และจะส่งเสริมให้ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตสำคัญของผลิตผลเกษตรของโลกต่อไป
หลักสูตร
ระบบการศึกษา ทวิภาค (2 ภาคการศึกษาต่อปี)
ระยะเวลาการศึกษา 4 ปี
จำนวนหน่วยกิตรวม 129 หน่วยกิต
ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร ประมาณ 362,050 บาท
สาระสำคัญในหลักสูตร
- หลักผลิตพืชและหลักผลิตสัตว์เศรษฐกิจ
- เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย เช่น โรงเรือนและสถานเพาะชำ การจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ภูมิอากาศวิทยาและอุตุนิยมวิทยาการเกษตร การจัดการสุขภาพพืช ภูมิสารสนเทศการเกษตร การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
- ระบบและการจัดการฟาร์ม และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจบริการด้านการเกษตร
- เทคโนโลยีการเกษตรสำหรับอนาคต เช่น นวัตกรรมการปลูกพืชที่ไม่ใช้ดิน (soilless culture) เกษตรกรรมในเมือง (urban agriculture) เกษตรกรรมยั่งยืน (sustainable agriculture)
- เทคโนโลยีการผลิตพืชที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยการเกษตรแบบแม่นยำสูง (precision agriculture) หรือการปลูกพืชในฟาร์มอัจฉริยะ (smart farming)
- สามารถเลือกเรียน กลุ่มวิชาชีพเลือก (15 หน่วยกิต) ได้ 3 กลุ่ม คือ
- เทคโนโลยีการผลิตพืช (crop production technology)
สร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะ ด้านการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต เช่น พืชพลังงานทดแทน พืชสมุนไพร พืชอินทรีย์ พืชสวนประดับ
- การจัดการฟาร์มอัจฉริยะ (smart farm management)
สร้างทักษะการวางแผน ออกแบบ และบริหารจัดการฟาร์มอัจฉริยะ ทั้งในเชิงเทคนิคและเชิงเศรษฐศาสตร์อย่างเหมาะสม โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เช่น อุปกรณ์ตรวจวัดข้อมูลการเกษตรจากระยะใกล้ (ในฟาร์ม) และระยะไกล (ด้วยอากาศยานและดาวเทียม) สถานีตรวจอากาศ ระบบ GPS และ GIS เพื่อสร้างข้อมูลฟาร์ม ระบบสื่อสารและโครงข่ายข้อมูลการเกษตรแบบไร้สายภายในฟาร์ม ระบบประมวลผลและวิเคราะห์ภาพถ่ายต้นพืชและดินเพื่อแปลงเป็นข้อมูลการเกษตร คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เคลื่อนที่ (แทบเล็ต สมาร์ทโฟน) และซอฟแวร์ เพื่อตัดสินใจและควบคุมการปลูกพืช เครื่องจักรกลเกษตรที่มีความแม่นยำสูง
- การจัดการผลิตผลเกษตร (agricultural produce management)
สร้างความเป็นนักธุรกิจเกษตรโดยเฉพาะ เช่น การจัดการและพัฒนาธุรกิจเกษตร ระบบสารสนเทศในธุรกิจเกษตร การจัดการผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยวขั้นสูงและการบรรจุหีบห่อผลิตผลเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา โลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทานเพื่อการจัดหาและขนส่งผลิตผล กฎหมายและมาตรฐานผลิตผลสดเพื่อการค้าและส่งออก
จุดเด่น
- เป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในประเทศที่เน้นด้านนวัตกรรมเกษตร โดยเฉพาะเรื่องการเกษตรแบบแม่นยำสูงหรือฟาร์มอัจฉริยะ
- มีแปลงปลูกและโรงเรือนที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัด ระบบสื่อสารและโครงข่ายข้อมูล ระบบสารสนเทศและประมวลผล ที่ทันสมัยครบวงจร ที่จำลองมาจากฟาร์มอัจฉริยะจริง เพื่อเรียนรู้และฝึกทักษะการทำเกษตรกรรมแบบแม่นยำสูง
- มีเรือนกระจก (greenhouse) เรือนเพาะชำ (nursery) โรงเรือนปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน และอาคารปลูกพืชในแนวตั้ง (vertical farming) เพื่อเรียนรู้การทำเกษตรกรรมในอนาคต
- เป็นศูนย์กลางบูรณาการนวัตกรรมด้านการเกษตรแห่งแรกของประเทศ โดยความร่วมมือกับหน่วยงานที่คิดค้น พัฒนาและวิจัย เทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อนำมาใช้งานในสภาพฟาร์มจริง เช่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหิดล เชียงใหม่ และลาดกระบัง
- เป็นต้นแบบฟาร์มอัจฉริยะให้เกษตรกรทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน
แนวทางการประกอบอาชีพ
- เกษตรกรอัจฉริยะ (smart farmer) ในธุรกิจฟาร์มเกษตร ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปลูกพืช โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เป็นเครื่องมือ
- ผู้จัดการฟาร์มอัจฉริยะ (smart farm manager) ในธุรกิจฟาร์มเกษตร ทำหน้าที่วางแผนและควบคุมดูแลการปลูกพืชและการใช้ทรัพยากรต่างๆ ในฟาร์มเกษตรอัจฉริยะหรือฟาร์มเกษตรที่ทันสมัยแบบต่างๆ
- นักวิชาการหรือที่ปรึกษาฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ (smart farm advisor) ในบริษัทธุรกิจเกษตรหรือธุรกิจฟาร์มเกษตร ทำหน้าที่ออกแบบ เลือกอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม และดำเนินการสร้างฟาร์มเกษตรอัจฉริยะและฟาร์มเกษตรที่ทันสมัยแบบต่างๆ
- นักวิชาการด้านการจัดการผลิตผลเกษตร ในบริษัทธุรกิจเกษตร ทำหน้าที่วางแผนและควบคุมดูแล การบรรจุหีบห่อ เก็บรักษา ขนส่ง ซื้อขาย หรือนำเข้าส่งออก ผลิตผลเกษตร
- ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ในบริษัทธุรกิจการบริการทางการเกษตร
- เจ้าของธุรกิจฟาร์มเกษตรหรือบริษัทธุรกิจเกษตรทุกประเภท
- นักวิชาการในหน่วยราชการ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ฯลฯ
- นักวิจัยในหน่วยวิจัย เช่น วว. NECTEC ฯลฯ
การเข้าศึกษา
สำเร็จการศึกษาระดับ ม.6 หรือเทียบเท่า ทั้งสายวิทย์-คณิต และสายศิลป์
เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.00 ใช้วิธีการรับตรง ไม่มีการสอบข้อเขียน
นักศึกษาจากสถาบันอื่นสามารถเทียบโอนวิชาและย้ายเข้ามาศึกษาต่อได้
cab.rsu.ac.th/agri
|