|
 |
ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๑๕ มกราคม ๒๕๔๘
|
|
|
|
Question: ครูเทียนครับ ผมมองว่ากีฬายูลีกครั้งนี้ ม.รังสิต ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะกีฬาฟุตบอลต้องใช้การทำงานเป็นทีม และอีกอย่างลูกกลม ๆก็ไม่แน่นอน เห็นได้จากฟุตบอลระดับนานาชาติ ครูเทียนคิดว่าเหตุผลที่เป็นเช่นนี้ เพราะอะไรครับ |
Answer:
ฟุตบอล ในระดับกีฬาเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สร้างเสริมระบบการต่อสู้แบบเป็นทีม เป็นกีฬาที่ทดแทนการยกทัพจับศึกแบบโบราณ ดังนั้นฟุตบอลจึงถูกอุปโลกน์ให้กลายเป็นการต่อสู้ของสถาบันและมีความหมายผูกไปกับเกียรติยศ ศักดิ์ศรีของสถาบันนั้น ๆ
เมื่อฟุตบอลผูกติดกับเรื่องอื่นที่มากกว่าการเล่นกีฬา ฟุตบอลจึงมีความหมายมากกว่าการมาแข่งกีฬา ถ้าฟุตบอลสถาบันดัง เราก็พลอยรู้สึกทรนงเมื่อฟุตบอลอยู่อันดับท้าย ๆ ความรู้สึกทรนงของเราก็ด้อยไปด้วย ทั้งที่ความจริงคุณค่าของสถาบันการศึกษาอยู่ที่ผลการศึกษา ไม่ได้อยู่ที่เครื่องประดับสถาบัน แต่เราแยกคุณค่าที่แท้จริงกับคุณค่าของสิ่งประดับไม่ได้เนื่องจากว่าคุณค่าที่แท้จริงต้องรอผลนาน เป็นคุณค่าที่เกิดจากการทำผลงานสะสม ต่อเนื่อง ดังนั้นเราจึงใช้คุณค่าจากเครื่องประดับ เช่น กีฬา การแข่งขัน การประกวดต่าง ๆ ฯลฯ มาช่วยพยุงเป็นคราว ๆ ไป แม้จะไม่ใช่คุณค่าที่แท้จริงแต่ก็ช่วยพยุงใจให้มีแรงสร้างสรรค์คุณค่าที่แท้จริง
ฟุตบอลมหาวิทยาลัยเป็นมากกว่าฟุตบอลก็ด้วยเหตุนี้ ชัยชนะในสนามไม่ใช่แค่ชัยชนะในสนามแต่มีนัยถึงชัยชนะและการจัดลำดับของสถาบันในภาพรวมด้วย ดังนั้นชัยชนะของฟุตบอลจึงมี "ผู้มีส่วนได้เสีย" มากกว่าโค้ชและนักฟุตบอลที่ลงแข่ง คือเมื่อชนะแล้ว คนได้ประโยชน์มีมากกว่านั้น
ปัญหาฟุตบอลคือเรื่อง "ลูกกลมๆ" ไม่มีอะไรแน่ ธุรกิจพนันบอลจึงอยู่ได้ เพราะที่ว่าน่าจะแน่ยังพลิกอยู่บ่อย ๆ ชัยชนะของ "ลูกกลม ๆ" จึงต้องอาศัยการประกอบเข้าด้วยกันของหลายฝ่าย ไม่ใช่แค่มีนักเตะฝีมือดี ๆ เท่านั้น แต่ต้องรวมไปถึงการบริหารจัดการ ฟุตบอลเป็นกีฬาทีมเหมือนวงออเคสตร้า วาทยากรสำคัญมาก คนเล่นดนตรีไม่เป็นไม่รู้ว่าคนที่มายืนวัก ๆ อยู่หน้านักดนตรีสำคัญอย่างไร คนเล่นฟุตบอลไม่เป็นก็ไม่รู้ความสำคัญเรื่องนี้เหมือนกัน
นอกจากนี้บรรยากาศการให้ความสำคัญในคณะ ตลอดจนกองเชียร์ก็เป็นส่วนสำคัญในชัยชนะ เหตุเพราะการเป็น "ลูกกลมๆ" นี่แหละ สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ เป็นส่วนประกอบเล็ก ๆ ที่มีผลต่อส่วนใหญ่ทั้งด้านบวกและลบ งานที่ไม่ใช่งานเดี่ยวมีลักษณะการเคลื่อนที่เป็นร่างแห
"เวลามีปัญหาคนมักจะมองว่าคนอื่นไม่ดีตรงไหน ใช้ไม่ได้ตรงไหน แต่เรามักไม่ค่อยมองที่ตัวเราว่ามีส่วนในปัญหานั้นอย่างไร และเราจะแก้ปัญหานั้นจากตัวเราอย่างไร" |
ดังนั้นการแข่งขันแต่ละครั้ง ถ้ามหาวิทยาลัยอื่นมีการประชาสัมพันธ์และไปดูกันอุ่นหนาฝาคั่ง แต่มหาวิทยาลัยเราไปดูกันน้อย และไม่ได้ใช้ฟุตบอลนี้ให้เป็น "สื่อ" ในการสานสายสัมพันธ์ทางสังคม
ระหว่างนักศึกษาหรือเป็นสื่อเพื่ออื่น ๆ เราก็ใช้สิ่งที่มีไม่คุ้ม การมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากมาย มีอยู่เพื่อให้มีอยู่เพราะมีตาม ๆ กันมาโดยไม่เข้าใจว่ามีสิ่งนั้นอยู่ทำไม ขาดไปจึงจะรู้สึก
ดังนั้นฟุตบอลที่แพ้ จึงเป็นการแพ้ของบรรยากาศการให้ความสำคัญของสถาบัน เป็นการแพ้ของกองเชียร์ เป็นการแพ้ของระบบบริหารจัดการฟุตบอลด้วย แต่เรามักไม่ค่อยนึกถึงว่าเราเองก็มีส่วน เวลามีปัญหาคนมักจะมองว่าคนอื่นไม่ดีตรงไหน ใช้ไม่ได้ตรงไหน แต่เรามักไม่ค่อยมองที่ตัวเราว่ามีส่วนในปัญหานั้นอย่างไร และเราจะแก้ปัญหานั้นจากตัวเราอย่างไร
| |