January 2005 Issue
Interview
ขึ้นแท่น
โดย หลิน พลอยน้ำเงิน
อาจารย์ม.รังสิต ร่วมอนุรักษ์มรดกโลก
เป็นตัวแทนไทยเข้าร่วมประชุม ICOMOS ณ ประเทศญี่ปุ่น
ICOMOS หรือ สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ เป็นองค์กรที่มีเป้าหมายการทำงาน เพื่อการอนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองโบราณสถานในลักษณะองค์กรอิสระ และเป็นที่ปรึกษาของ UNESCO โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการอนุรักษ์มรดกโลก
ในปีนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ICOMOS ประจำประเทศไทย ซึ่งมีอธิบดีกรมศิลปากรเป็นประธาน ได้เห็นชอบและอนุมัติให้ ผศ.สุดจิต สนั่นไหว อาจารย์ประจำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม The ICOMOS-CIAV Conference ในฐานะผู้มีประสบการณ์ด้านการศึกษาและวิจัยเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในประเทศไทย สารรังสิตฉบับนี้จึงได้เชิญ ผศ.สุดจิต มาเล่าถึงบรรยากาศในการประชุมดังกล่าวให้ได้ฟังกัน
พูดถึงที่มาของการประชุม The ICOMOS-CIAV Conference
การประชุม The ICOMOS-CIAV Conference ประจำปีนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ อิโคโมสไทย ซึ่งมีอธิบดีกรมศิลปากรเป็นประธาน ได้เห็นชอบและอนุมัติให้อาจารย์ซึ่งเป็นสมาชิกหมายเลข 015 ของ อิโคโมสไทย ในฐานะผู้มีประสบการณ์ด้านการศึกษาและวิจัยเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในประเทศไทย เป็นผู้แทนเข้าร่วมเสนอบทความในการประชุมนานาชาติ The ICOMOS-CIAV Conference 2004 "Sustainable Conservation Systems for Vernacular Architecture, Traditional Historical Architecture and Village" ณ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 12-16 ตุลาคม ที่ผ่านมา
เนื้อหาที่นำเสนอรวมทั้งบรรยากาศในงานเป็นอย่างไร
การนำเสนอในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างดีมาก อาจเป็นเพราะมีเวลาเตรียมการล่วงหน้าพอสมควร และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทีมสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นจากอิโคโมสไทย หรือทางทีมอาจารย์ของ M.S.CRAC และลูกศิษย์ก็ดี ทำให้ผลิตสื่อประกอบการบรรยายที่สามารถส่งสารได้อย่างครบถ้วนภายในเวลาที่จำกัด โดยสิ่งที่เสนอนอกจากภาพรวมพัฒนาการศึกษาสถาปัตยกรรมในเมืองไทยที่เชื่อมโยงกับการสร้างสำนึกอนุรักษ์แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานการเรียนการสอนที่ได้เก็บรวบรวมมาตลอดระยะเวลา 15 ปีที่สอนเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทยในมหาวิทยาลัยรังสิต นอกจากนี้ยังได้นำเสนอตัวอย่างกิจกรรมนักศึกษาที่เกี่ยวข้อง อาทิ กิจกรรมชมรมอนุรักษ์สถาปัตยกรรม งานอาสาสมัครเพื่อการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมร่วมกับสังคมภายนอก ที่เคยได้มีส่วนผลักดันไว้เมื่อครั้งเป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในช่วงเวลารับผิดชอบร่วม 9 ปี โดยสิ่งที่สร้างความตื่นตาให้กับที่ประชุมมากที่สุดกว่าผู้บรรยายท่านอื่น ๆ ในครั้งนี้ คงได้แก่ตัวอย่างภาพยนตร์สั้นในรูปของ 3D Animation ซึ่งจำลองภาพอดีตเมื่อ กว่า 100 ปีของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่กลุ่มนักศึกษาปริญญาตรีของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ในนาม CAAD Community ได้ร่วมกันทำภายใต้ Project สารคดีสะท้อนผลกระทบจากการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเรื่อง URBAN PARADISE ซึ่ง Rhythmatic Studio และหลักสูตร วท.ม.การอนุรักษ์และฟื้นฟูสถาปัตยกรรมและชุมชน (M.S.CRAC) ได้ร่วมกันดำเนินการอยู่
ม.รังสิต ได้รับประโยชน์อะไรจากการประชุม ICOMOS ครั้งนี้
อาจารย์ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน ค่าที่พัก และการเดินทางจากกรมศิลปากร ร่วมกับทาง ICOMOS-CIAV ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสดีต่อตนเองและมหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง ในการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลตอบแทนจากการที่มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และส่งเสริมให้ทั้งอาจารย์และนักศึกษาได้ร่วมศึกษาค้นคว้า และทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้มีผลงานที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นปรากฏเป็นรูปธรรม อย่างมีคุณภาพเพียงพอที่จะนำเสนอในเวทีระดับนานาชาติครั้งนี้ได้ นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าถึงแม้มหาวิทยาลัยรังสิตจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน แต่ก็ตระหนักถึงพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย ในอันที่จะร่วมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งรวมถึงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่างยั่งยืนด้วยกระบวนการผลิตบัณฑิตที่มีจิตสำนึกสู่สังคมนั่นเอง
Copyright © 2004 Sarn Rangsit Online. All Rights Reserved.
Published Monthly by the Public Relations Office