|
 |
ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๑๕ มกราคม ๒๕๔๘
|
|
|
|
เป็นเวลาประมาณบ่าย 2 โมง เมื่อจบสนทนาผ่านโทรศัพท์กับสาวสวยจากสำนักงานประชาสัมพันธ์ ขณะนั้นกำลังเดินออกจากอาคารวิษณุรัตน์เพื่อมุ่งหน้าไปหอสมุด เกิดอาการลังเลอยู่เสี้ยววินาที ก่อนเปลี่ยนใจเดินตรงไปทางมณฑปพระศรีศาสดา พนมมือไหว้พระศรีศาสดา แล้วเดินเลี้ยวขวาไปอาคารประสิทธิรัตน์ ที่เรามักเรียกติดปากว่า ตึก 2 หรืออาคารบริหารธุรกิจ ไม่มีเหตุผลไปทำอะไรที่ตึกนั้นในเวลานั้น แต่หัวใจมันสั่ง (ซึ่งที่จริงคือสมอง) แล้วเท้าก็ก้าวตามโดยอัตโนมัติ ระหว่างทางพบอาจารย์หลายคน บางท่านถามว่า จะไปไหน พอบอกว่าไปตึก 2 ก็มีคำถามต่อไปว่า ไปทำอะไร เราไม่รู้จะตอบอย่างไร ได้แต่ยิ้ม และตอบว่ามาเดินเล่นค่ะ
.
อาคารประสิทธิรัตน์กำลังปรับปรุงกันยกใหญ่ คงจะเสร็จสิ้นสวยงามรับปีใหม่นี้ อาคารนี้ถูกเรียกว่า อาคาร 2 แต่ในความเป็นจริง อาคารนี้เป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยรังสิต ลงมือก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2528 สร้างและตกแต่งเสร็จเรียบร้อยในต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2529 ใช้เป็นห้องเรียน ห้องพักอาจารย์ของคณะบริหารธุรกิจ คณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งเป็น 2 คณะแรกที่เปิด เป็นห้องทำงานของอธิการบดี บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของชั้น 3 และชั้น 4 เป็นห้องสมุด ชั้นล่างสุดเป็นสำนักงานทะเบียน สำนักงานประชาสัมพันธ์ แผนกการเงิน ฯลฯ เป็นทุกอย่าง
ก่อนเริ่มรับนักศึกษาเป็นครั้งแรกนั้น ทบวงมหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการมาตรวจความพร้อมด้านต่างๆ ในกลางเดือนเมษายน 2529 ในขณะนั้น คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ รวมทั้งผู้บริหาร มีความตื่นเต้นมาก แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี คณะกรรมการฯ มีความพอใจในความพร้อม และอนุญาตให้มหาวิทยาลัยรังสิต หรือวิทยาลัยรังสิตในขณะนั้น สามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ในปีการศึกษา 2529
พวกเราทุกคนล้วนมีความยินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านผู้ก่อตั้ง คือคุณพ่อประสิทธิ์ อุไรรัตน์ และ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีผู้ก่อตั้ง การฉลองความสำเร็จขั้นแรกของวิทยาลัยรังสิต มีขึ้นระหว่างคณาจารย์และเจ้าหน้าที่กลุ่มแรกของวิทยาลัยฯ กับครอบครัวอุไรรัตน์ ที่บริเวณชั้นล่างของอาคาร 2 แห่งนี้ ในวันนั้นเป็นวันที่ 9 พฤษภาคม 2529 ตรงกับวันพืชมงคล และเป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ด้วย เราจำได้ว่าฝนตกหนักตั้งแต่เช้า หลายคนต้องลุยน้ำมาจากบ้าน เพราะน้ำท่วม วันนั้นเป็นวันที่ เพลง "ตะวันรุ่งทุ่งรังสิต" ซึ่งประพันธ์คำร้องโดย คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ถูกร้องร่วมกันเป็นครั้งแรก เสียงประสานของพวกเรากังวาลแทรกสายลมและสายฝนที่ตกหนักทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล ไม่เว้นแม้ท้องทุ่งรังสิตแห่งนี้
"
ดอกแก้วเจ้าจอม พะยอมรังสิต
แสนงามสุดงามน้ำจิต จากรังสิตสู่ใจทุกใจ
"
เสียงเพลงหวานแว่วอยู่ในความทรงจำเสมอมา เคยสงสัยไหมว่า ทำไมและเมื่อไหร่จึงเลือก ต้นพะยอมเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ขออนุญาตเล่าเรื่องจากเอกสารว่า ในปีพ.ศ. 2536 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เป็นเจ้าภาพกีฬามหาวิทยาลัย จึงมีแนวคิดที่จะปลูกต้นไม้สัญลักษณ์ของทุกสถาบันที่เข้าร่วมการแข่งขันไว้เป็นที่ระลึกในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในขณะนั้น ยังไม่มีต้นไม้ประจำสถาบัน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงได้ปรึกษาหารือและเลือกต้นพะยอมเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ตั้งแต่นั้นมา พะยอมนั้นจัดเป็นไม้ป่า ไม่ค่อยขึ้นหรือออกดอกในเมือง บางคนว่า เลือกเป็นต้นพะยอมเพราะเป็นของมีค่าหายาก เหมือนเราเป็นช้างเผือกอยู่ในป่า
มหาวิทยาลัยรังสิต ร.ศ. 224
"กริ๊ง
. " เสียงร้องของโทรศัพท์ทำเอาแทบสะดุ้ง
"ฮัลโหล
" ตอบรับไปเมื่อเห็นเบอร์ของลูกศิษย์ในที่ปรึกษาแสดงที่หน้าจอ
"อาจารย์คะ หนู
เองค่ะ อาจารย์อยู่ที่ไหนคะ" นักศึกษาหลายคนชอบถามแบบนี้ ก็ถ้าครูไม่อยู่ที่ทำงาน ครูจะอยู่ที่ไหนได้ล่ะ แล้วทำไมต้องบอกเธอทุกเรื่อง (เหอ!)
"ครูอยู่ที่ชั้น 2
"
"หนูก็อยู่ที่ชั้น 2 ค่ะ อาจารย์อยู่ตรงไหนคะ หนูไม่เห็นอาจารย์อยู่ที่ห้อง หนูมารออาจารย์ตามนัดค่ะ "
"ครูอยู่ที่ตึก 2 จ้ะ
ไม่ใช่ตึกหอสมุด.."
"อ้าว
!!!
" นักศึกษาคงจะอยากถามว่า อาจารย์มาทำอะไรที่ตึกนี้ (อีกแล้ว!)
"ครูมาย้อนเวลา หาอดีตจ้ะ
รอครูอยู่ที่นั่นแหละ
"
ก้าวเท้าออกจากอาคาร พบกับแดดบ่ายร้อนแรงน่าดู มองนาฬิกาข้อมือ แล้วก็ตกใจ มาอยู่ที่นี่เกือบ 2 ชั่วโมงเชียวหรือเรา เดินข้ามถนนมุ่งหน้าไปทางอาคาร 1 อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ ความทรงจำเก่าๆ ถูกวางพักเอาไว้ชั่วคราวเมื่อเดินเข้าสู่ร่มเงาของอาคารใหม่ทันสมัยหลังล่าสุด จากวันนั้นจนถึงวันนี้ มหาวิทยาลัยรังสิตมีอายุครบ 20 ปี ไม่ว่าทุกข์หรือสุข ร้อนหรือหนาว มหาวิทยาลัยรังสิต ของเราแห่งนี้เคยผ่านมาแล้วทั้งสิ้น สิ่งเหล่านั้นมิใช่หรือที่หล่อหลอมให้เราเป็นสถาบันที่แข็งแกร่ง ปีพุทธศักราช 2547 ที่ผ่านมานับเป็นปีแห่งการพัฒนา และปีแห่งความสำเร็จของมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง เสมือนเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อการเฉลิมฉลอง 2 ทศวรรษในปีพุทธศักราช 2548 เป็นสัญญาณว่า ปีใหม่ ทศวรรษใหม่ สิ่งดีๆ อีกมากยังรอพวกเราอยู่ขอเพียงอย่าท้อ... และขอให้มีแรงใจเพื่อก้าวไปร่วมกัน
"ไกลแสนไกล มิไกลเหมือนใกล้ ฝากตะวันช่วยสื่อความหมาย ฝากดวงใจให้สื่อความฝัน"
"โอ้พี่น้องเอย มิเคยไหวหวั่น พร้อมใจ รวมใจหมายมั่น ร่วมรังสรรค์ รังสิต รังสี"
| |