ภาพยนตร์ควรดู เพลง ดนตรีที่ควรฟัง หนังสือควรอ่าน
บทความควรอ่าน สถานที่ควรเยี่ยม
 

โครงการ "50 เรื่องดีใน 4 ปีรังสิต" เป็นโครงการเพื่อการเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิตแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และมุมมองต่อโลกและชีวิตที่มุ่งมั่นสู่การค้นหา ความดี ความจริง และความงาม

สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของมหาวิทยาลัยที่จะสร้างและพัฒนาคนที่ถึงพร้อมทั้งความรู้และคุณธรรม โดยตั้งคำถามง่ายว่า ในช่วงชีวิตนักศึกษา มีสิ่งใดที่ควรด้วยการสร้างประสบการณ์ การอ่าน การดู การฟัง ผ่านงานศิลปะและวรรณกรรมต่างๆ จึงได้แบ่งหมวดหมู่ไว้ดังนี้ 1. ภาพยนตร์ที่ควรชม 2. เพลง-ดนตรีที่ควรฟัง 3. หนังสือที่แนะนำ 4. บทความที่ควรอ่าน และ 5. สถานที่ที่ควรไปเยี่ยมชม

มหาวิทยาลัยเพียงแต่กำหนดประเภทและเนื้อหาของสิ่งที่แนะนำเป็นมาตรฐานขั้นต้นเท่านั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการศึกษา เสวนาด้วยรูปแบบและวิธีการอันเหมาะสมหลากหลาย

หมายเหตุ - ภาพยนตร์ทุกเรื่อง และหนังสือแนะนำทุกเล่ม มีให้ยืมที่สำนักหอสมุด


 
 
 


1. Chariots of Fire (ฮิวก์ ฮัดสัน, 1981)

เรื่องราวเกี่ยวกับสองนักวิ่งอังกฤษที่ลงแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปี 1924 ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยศรัทธา ความเชื่อมั่นและทำให้คนดูได้สัมผัสกับแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่



2. Dead Poets Society (ปีเตอร์ เวียร์, 1989)

ภาพยนตร์ไม่เพียงทำให้ค้นพบความยิ่งใหญ่ของบทกวี หากแต่ยังนำเสนอให้เห็นความสำคัญของเสรีภาพทางปัญญาและการค้นพบจิตวิญญาณ และตัวตนของคนหนุ่มสาว

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่



3. A Few Good Men (ร็อบ ไรเนอร์,1992)

แม้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในกองทัพสหรัฐฯ แต่โดยสาระสำคัญที่นำเสนอนั้นสามารถสะท้อนแนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคในทุกชาติทุกสังคม

สำหรับผู้ชื่นชมดาราและบทบาทการแสดงชั้นดี นี่คือการปะทะที่เข้มข้นของ ทอม ครูซ แจ็ค นิโคลสัน และเดมี่ มัวร์

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่



4. Gandhi (ริชาร์ด แอ็ทเทนเบอเรอก์, 1982)

แบบอย่างของภาพยนตร์ที่ “ยิ่งใหญ่” ยิ่งใหญ่ทั้งบุคคลในเรื่อง (คานธี) ฉากเหตุการณ์ความยาว (188นาที) จำนวนตัวละครและสาระ (การต่อสู้ด้วยสันติวิธี)

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่



5. Grave of Fireflies (ทาคาฮาตะ อิซาโอะ,1988)

การสะท้อน ความโหดร้ายของสงครามผ่านทางเรื่องราว ความทุกข์ยากของสองพี่น้องภาพยนตร์เรื่องนี้มีผลกระทบทั้งต่อความคิด อารมณ์และความรู้สึก และเป็นที่สุดของการสร้างอารมณ์สะเทือนใจ

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่



6. Local Hero (บิลล์ ฟอร์ไซธ์, 1983)

แบบฉบับของการนำเสนอประเด็นการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยอารมณ์ขันอันเฉียบแหลม ภาพยนตร์ยังมีสาระที่สอดคล้องกับแนวคิดการมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่



7. One Flew Over the Cuckoo’s Nest (มิลอส ฟอร์แมน, 1975)

การนำเสนอให้เห็นถึงความสามารถของมนุษย์ที่จะทำให้เกิดการค้นพบคุณค่าของตนเองและความยิ่งใหญ่ของเสรีภาพ

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่



8. The Truman Show (ปีเตอร์ เวียร์, 1998)

งานชิ้นเอกสำหรับสังคมยุค “เรียลิตี้โชว์” ซึ่งสะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์ในแง่สังคมบทบาทของสื่อมวลชน และการได้รับความพึงพอใจของคนดู

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่



9. Distant Voice, Still Lives (เทอร์เร็นซ์ เดวิส, 1988)

ภาพยนตร์ที่เป็นเสมือนสมุดบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวและครอบครัวของเทอร์เร็นซ์ เดวิส ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวลิเวอร์พูล สิ่งที่ทำให้งานของเดวิส เรื่องนี้แตกต่างจากภาพยนตร์เกี่ยวกับครอบครัวเรื่องอื่นก็คือวิธีการเล่าเรื่อง(เพื่อถ่ายทอดความทรงจำ) ผ่านการตัดต่อที่นักวิจารณ์บางคนบรรยายว่า “ดุเดือดและเหี้ยมเกรียม” รวมถึงการใช้เทคนิคทางภาพยนตร์ที่หลากหลาย เมื่อกล่าวอย่างถึงที่สุด ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความสามารถที่จะทำให้คนดูเกิดอาการจับต้นชนปลายไม่ถูกได้ไม่ยาก และการทำความเข้าใจสิ่งที่เดวิสต้องการนำเสนอในภาพยนตร์ ถือเป็นภาระที่ท้าทายความคิด สติปัญญา รวมทั้งจินตนาการของผู้ดูอย่างมาก

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่



10. ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น (ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล,2520)

ปัญหาของคนชั้นล่างคือการถูกเอาเปรียบ และแม้เวลาผ่านมากว่า 2 ทศวรรษ แต่ชีวิตของทองพูน โคกโพยังคงสะท้อนให้เห็นว่าปัญหานี้ยังคงมีอยู่และไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป
ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่



11. The Bear (ฌอง-ฌาคส์ อังโนด์, 1989)

นอกเหนือจากการมอบความบันเทิงสำหรับคนดูทุกวัยแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์โดยไม่เบียดเบียนกัน รวมทั้งส่งเสริมให้มีความเมตตาต่อสัตว์

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่



12. Dances with Wolves (เควิน คอสท์เนอร์, 1990)

สิ่งสำคัญที่บรรจุอยู่ในภาพยนตร์ยาวกว่า 3 ชั่วโมง (185 นาที) เรื่องนี้ก็คืองานฝีมือชั้นเยี่ยม ความบันเทิงสำหรับคนดูกลุ่มใหญ่ และเนื้อหาเชิดชูคุณค่าของมนุษย์และธรรมชาติ

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่



13. The Killing Fields (โรแลนด์ จอฟเฟ, 1984)

สงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชายุคเขมรแดงถูกนำเสนอด้วยสไตล์เหมือนจริง น่าจะทำให้คนดูทุกคนเกิดความรู้สึกเกลียดชัง สงครามอย่างที่สุด

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่



14. 15 ค่ำเดือน 11 (จิระ มะลิกุล, 2545)

ประเด็นความเชื่อและศรัทธาในเรื่องนี้มิได้จำกัดเฉพาะแค่ “บั้งไฟพญานาค” เท่านั้น แต่ยังน่าจะทำให้เห็นประเด็นครอบคลุมปรากฏการณ์อื่น ๆ ในสังคมไทยอีกด้วย

ดูตัวอย่างหนังได้ที่นี่

แนวคิดในการคัดเลือก
คุณค่าความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค การอนุรักษ์ธรรมชาติ และสงครามยังคงเป็นประเด็นสำคัญในทุกยุคทุกสมัย ซึ่งนักศึกษาและปัญญาชนควรจะตระหนักและได้รับรู้ผ่านทางงานศิลปะ การเลือกภาพยนตร์ที่ควรดูจึงมาจากแนวคิดดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศอย่าง Citizen Kane หรือ The Godfather Part II, ซึ่งแม้เพียบพร้อมด้วยคุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์ แต่อาจจะไม่มีประเด็นที่ได้กล่าวไป