นวัตกรรมเกษตร
Agricultural Innovation
 

คณะนวัตกรรมเกษตร
FACULTY OF AGRICULTURAL INNOVATION

หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขานวัตกรรมเกษตร
cab.rsu.ac.th/agri
           

นวัตกรรมเกษตร คือ การบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยต่างๆ เข้ากับเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพของผลิตผล โดยใช้ข้อมูลของต้นพืช สภาพแวดล้อมของฟาร์ม และฐานข้อมูลด้านการเกษตร ที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นเครือข่าย มาประมวลผลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยการตัดสินใจปรับปัจจัยการผลิตและการดูแลรักษาต้นพืชอย่างพอเหมาะ รวมถึงการจัดการผลิตผลเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อคงคุณภาพเอาไว้ให้นานที่สุด

ความสำคัญ
ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตผลิตผลเกษตรที่สำคัญของโลก แต่ด้วยเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมที่ให้ผลผลิตต่ำ ทำให้เกษตรกรของไทยยังคงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจน ขณะเดียวกันจำนวนประชากรที่สูงขึ้น ชุมชนเมืองที่ขยายตัว พื้นที่เพาะปลูกที่ลดลง สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากปัญหาโลกร้อน รวมทั้งความต้องการผลิตผลเกษตรเพื่อแปลงเป็นพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรรมแบบดั้งเดิมยิ่งไม่สามารถให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการได้ และความพยายามในการเพิ่มผลผลิตด้วยวิธีเดิมๆ กลับทำให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ จากการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น นอกจากนี้ผลิตผลเกษตรจำนวนมากยังคงสูญเสียไปตั้งแต่เก็บเกี่ยวตลอดเส้นทางไปสู่ผู้บริโภคหรือสู่กระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่ไม่ดีพอ นวัตกรรมเกษตรจึงเป็นศาสตร์ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย เกษตรกรรมแบบแม่นยำสูงหรือฟาร์มอัจฉริยะ เกษตรกรรมในเมือง และเกษตรกรรมแบบยั่งยืน รวมไปถึงการจัดการผลิตผลเกษตรแบบครบวงจร นวัตกรรมเกษตรจึงเป็นเกษตรกรรมยุคใหม่ที่จะมีบทบาทมากขึ้นและถือว่าเป็นเกษตรกรรมของอนาคตอย่างแท้จริง นวัตกรรมเกษตรจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ทีดีขึ้น และจะส่งเสริมให้ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตสำคัญของผลิตผลเกษตรของโลกต่อไป

หลักสูตร
ระบบการศึกษา   ทวิภาค (2 ภาคการศึกษาต่อปี)
ระยะเวลาการศึกษา   4   ปี
จำนวนหน่วยกิตรวม   129   หน่วยกิต
ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร          ประมาณ   362,050   บาท

สาระสำคัญในหลักสูตร

  • หลักผลิตพืชและหลักผลิตสัตว์เศรษฐกิจ
  • เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย เช่น โรงเรือนและสถานเพาะชำ การจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ภูมิอากาศวิทยาและอุตุนิยมวิทยาการเกษตร การจัดการสุขภาพพืช ภูมิสารสนเทศการเกษตร การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
  • ระบบและการจัดการฟาร์ม และเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจบริการด้านการเกษตร
  • เทคโนโลยีการเกษตรสำหรับอนาคต เช่น นวัตกรรมการปลูกพืชที่ไม่ใช้ดิน (soilless culture) เกษตรกรรมในเมือง (urban agriculture) เกษตรกรรมยั่งยืน (sustainable agriculture)
  • เทคโนโลยีการผลิตพืชที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยการเกษตรแบบแม่นยำสูง (precision agriculture) หรือการปลูกพืชในฟาร์มอัจฉริยะ (smart farming)
  • สามารถเลือกเรียน กลุ่มวิชาชีพเลือก (15 หน่วยกิต) ได้ 3 กลุ่ม คือ
  1. เทคโนโลยีการผลิตพืช (crop production technology)

สร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะ ด้านการผลิตพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต เช่น พืชพลังงานทดแทน พืชสมุนไพร พืชอินทรีย์ พืชสวนประดับ

  1. การจัดการฟาร์มอัจฉริยะ (smart farm management)

สร้างทักษะการวางแผน ออกแบบ และบริหารจัดการฟาร์มอัจฉริยะ ทั้งในเชิงเทคนิคและเชิงเศรษฐศาสตร์อย่างเหมาะสม โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เช่น อุปกรณ์ตรวจวัดข้อมูลการเกษตรจากระยะใกล้ (ในฟาร์ม) และระยะไกล (ด้วยอากาศยานและดาวเทียม) สถานีตรวจอากาศ ระบบ GPS และ GIS เพื่อสร้างข้อมูลฟาร์ม ระบบสื่อสารและโครงข่ายข้อมูลการเกษตรแบบไร้สายภายในฟาร์ม ระบบประมวลผลและวิเคราะห์ภาพถ่ายต้นพืชและดินเพื่อแปลงเป็นข้อมูลการเกษตร คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เคลื่อนที่ (แทบเล็ต สมาร์ทโฟน) และซอฟแวร์ เพื่อตัดสินใจและควบคุมการปลูกพืช เครื่องจักรกลเกษตรที่มีความแม่นยำสูง

  1. การจัดการผลิตผลเกษตร (agricultural produce management)

สร้างความเป็นนักธุรกิจเกษตรโดยเฉพาะ เช่น การจัดการและพัฒนาธุรกิจเกษตร ระบบสารสนเทศในธุรกิจเกษตร การจัดการผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยวขั้นสูงและการบรรจุหีบห่อผลิตผลเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา โลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทานเพื่อการจัดหาและขนส่งผลิตผล กฎหมายและมาตรฐานผลิตผลสดเพื่อการค้าและส่งออก


จุดเด่น

  • เป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในประเทศที่เน้นด้านนวัตกรรมเกษตร โดยเฉพาะเรื่องการเกษตรแบบแม่นยำสูงหรือฟาร์มอัจฉริยะ
  • มีแปลงปลูกและโรงเรือนที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัด ระบบสื่อสารและโครงข่ายข้อมูล ระบบสารสนเทศและประมวลผล ที่ทันสมัยครบวงจร ที่จำลองมาจากฟาร์มอัจฉริยะจริง เพื่อเรียนรู้และฝึกทักษะการทำเกษตรกรรมแบบแม่นยำสูง
  • มีเรือนกระจก (greenhouse) เรือนเพาะชำ (nursery) โรงเรือนปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน และอาคารปลูกพืชในแนวตั้ง (vertical farming) เพื่อเรียนรู้การทำเกษตรกรรมในอนาคต
  • เป็นศูนย์กลางบูรณาการนวัตกรรมด้านการเกษตรแห่งแรกของประเทศ โดยความร่วมมือกับหน่วยงานที่คิดค้น พัฒนาและวิจัย เทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อนำมาใช้งานในสภาพฟาร์มจริง เช่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหิดล เชียงใหม่ และลาดกระบัง
  • เป็นต้นแบบฟาร์มอัจฉริยะให้เกษตรกรทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน


แนวทางการประกอบอาชีพ

  • เกษตรกรอัจฉริยะ (smart farmer) ในธุรกิจฟาร์มเกษตร ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปลูกพืช โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เป็นเครื่องมือ
  • ผู้จัดการฟาร์มอัจฉริยะ (smart farm manager) ในธุรกิจฟาร์มเกษตร ทำหน้าที่วางแผนและควบคุมดูแลการปลูกพืชและการใช้ทรัพยากรต่างๆ ในฟาร์มเกษตรอัจฉริยะหรือฟาร์มเกษตรที่ทันสมัยแบบต่างๆ 
  • นักวิชาการหรือที่ปรึกษาฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ (smart farm advisor) ในบริษัทธุรกิจเกษตรหรือธุรกิจฟาร์มเกษตร ทำหน้าที่ออกแบบ เลือกอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม และดำเนินการสร้างฟาร์มเกษตรอัจฉริยะและฟาร์มเกษตรที่ทันสมัยแบบต่างๆ
  • นักวิชาการด้านการจัดการผลิตผลเกษตร ในบริษัทธุรกิจเกษตร ทำหน้าที่วางแผนและควบคุมดูแล การบรรจุหีบห่อ เก็บรักษา ขนส่ง ซื้อขาย หรือนำเข้าส่งออก ผลิตผลเกษตร
  • ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ในบริษัทธุรกิจการบริการทางการเกษตร
  • เจ้าของธุรกิจฟาร์มเกษตรหรือบริษัทธุรกิจเกษตรทุกประเภท
  • นักวิชาการในหน่วยราชการ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ฯลฯ
  • นักวิจัยในหน่วยวิจัย เช่น วว. NECTEC ฯลฯ


การเข้าศึกษา
สำเร็จการศึกษาระดับ ม.6 หรือเทียบเท่า ทั้งสายวิทย์-คณิต และสายศิลป์
เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.00 ใช้วิธีการรับตรง ไม่มีการสอบข้อเขียน
นักศึกษาจากสถาบันอื่นสามารถเทียบโอนวิชาและย้ายเข้ามาศึกษาต่อได้

cab.rsu.ac.th/agri